Friday, June 28, 2013

Review: Loving Lady Marcia


Loving Lady Marcia
Loving Lady Marcia by Kieran Kramer

My rating: 3 of 5 stars



เราชอบการเขียนของเคียเรน แครมเมอร์มาก ๆ นะคะ หนังสือของเธออ่านได้ลื่นไหลตลอดทั้งเรื่อง ปัญหาที่เราเจอก็คือ เราไม่ชอบนางเอกของเธอเลย และเล่มนี้ปัญหาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม

Loving Lady Marcia เป็นเล่มแรกในชุด The House of Brady ซึ่งว่ากันว่าเอาชื่อคาแร็คเตอร์และโครงสร้างครอบครัวของหนังซีรีย์ดังสมัยก่อนเรื่อง The Brady Bunch มาใช้ แม้ว่าเนื้อเรื่องจะไม่เหมือนกันเลยก็ตาม อันนี้เขาว่ามานะคะ เราตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยดูซีรีย์เรื่องนี้ และนี่คือ ปัญหาข้อแรกเลย เนื่องจากเราไม่ใช่คนอเมริกัน ไม่ได้ดูหนังสือซีรีย์เรื่องนี้ แม้มันจะดังมาก ๆ เราไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง พอบอกได้ค่ะว่า เป็นเรื่องในครอบครัวที่รักกันมาก และครอบครัวของนางเอกก็เป็นอย่างนั้น แต่ขอบอกว่า ตอนเรื่องจู่ ๆ ก็บอกว่า นางเอกไม่ใช่ลูกของคนที่เธอเรียกว่า พ่อ มาตั้งแต่ต้นเรื่อง เราก็งงมาก เข้าใจว่า คนที่ดูซีรีย์น่าจะรู้ตั้งแต่ก่อนอ่าน แต่เราไม่รู้นี่ค่ะ และรู้สึกด้วยว่าทำไมคนแต่งถึงไม่พูดถึงประเด็นนี้ในเรื่องเลย

อาจจะเพราะว่า คนแต่งคิดว่า คนอ่านทุกคนเคยดู The Brady Bunch มาแล้ว

พล็อตเรื่องจริง ๆ น่าจะเขียนให้สนุกได้ นางเอกหลงรักน้องชายของพระเอกตั้งแต่ตอนอายุได้สิบห้า แต่โดนหักอก จากนั้นห้าปีผ่านไปก็ได้เจอกับพระเอกที่ตอนเจอกันครั้งแรกนางเอกไม่ชอบหน้า แต่วิธีการเล่าเรื่องมันยิ่งทำให้เราไม่ชอบนางเอกแบบจริงจัง เพราะเธอลุ่มหลงน้องชายพระเอกเหลือเกิน ทั้งที่ไอ้หมอนี่โคตรเลว เธอไม่ได้ตาสว่างมองเห็นความเลวของตานี่หรอกนะคะ โดนหลอกมาตลอดทั้งเรื่อง เข้าใจพระเอกผิดว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้น้องชายทิ้งเธอไปเมื่อหลายปีก่อน มารู้ความจริงก็เพราะว่า พระเอกบอก ยังดีนะคะที่เชื่อคำพูดของพระเอก

อ่านแล้วหงุดหงิดนางเอกมาก ๆ บางช่วงของเรื่องเธอก็ดูฉลาดนะคะ แต่ส่วนใหญ่มักทำตัวน่ารำคาญ เธอโดนทิ้ง (หลังจากโดนน้องพระเอกเจาะไข่แดงไปแล้ว) แต่แทนที่จะมองเรื่องอย่างที่เป็นว่า ไอ้หนุ่มนั่นมันเลว สาวเจ้าแต่งเรื่องในสมอง โทษว่าเป็นความผิดของพระเอกที่บังคับน้องชายให้เดินทางไปอเมริกา โอเคนะถ้าเชื่ออย่างนั้น แต่ทำไมไม่มีความคิดว่า ถ้าไอ้นั่นมันรักหล่อนจริง ทำไมตลอดเวลาไม่เคยติดต่อมา ที่น่าแค้นมากก็คือ เมื่อมันกลับมา เธอก็ยังมีไมตรีให้มันอีก ไม่พูดว่าเป็นความผิดของมันสักนิดเดียว

เรารู้สึกว่า นางเอกเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็คิดถึงตัวเองมาก โดยชอบนึกว่า ตัวเองเป็นคนดี เสียสละ เกลียดคาแร็คเตอร์แบบนี้จริง ๆ เธอโง่เสียความบริสุทธิ์ให้กับคนที่ไม่คู่ควร เธอก็เลือกที่จะใช้ชีวิตสาวโสด โดยไม่คิดถึงคนในครอบครัวที่ตัวเองบอกว่ารักนักรักหนาว่า พวกเขาจะห่วงเธอมากแค่ไหน แล้วยังเก็บความลับเกี่ยวกับพฤติกรรมเลว ๆ ของชายคนนั้นไว้ จนน้องสาวเกือบตกเป็นเหยื่อมันไปอีกคน

เราชอบพระเอก ชอบฉากที่เขาอยู่กับลูกชายของเขามาก และเพราะชอบพระเอก ก็เลยยิ่งไม่ชอบนางเอก คิดว่า เธอไม่คู่ควรกับเขาเลย

เรารู้สึกว่า เรามองคาแร็คเตอร์ของนางเอกแตกต่างไปจากที่คนแต่งมองมาก เราตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้ยังไงที่เด็กอายุยี่สิบปีจะกลายเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสตรี ทางสังคมเป็นไปไม่ได้เลย ทางความรู้จะเป็นไปได้เหรอ เธอเพิ่งเรียนจบได้สองปีเองนะ จะเก่งขนาดไหนกัน (เมื่อตอนอายุสิบห้า ตายังเป็นประกายโดนหนุ่มหลอกอยู่เลย) เราเลยไม่เชื่อการเติบโตของนางเอก โดยเฉพาะเมื่อเจ้าคนเลวกลับมา เธอไม่เคยโทษมันสักครั้ง จริงอยู่เธออาจจะไม่ได้โทษคนอื่น (หรือพระเอก) เช่นกันว่าเป็นคนผิด แต่เธอมองไม่ออกเลยเหรอว่า คนคนนี้มันเลว (เราทำใจเชื่อไม่ได้ค่ะว่า เธอจะมองไม่ออก หากเธอฉลาดอย่างที่เรื่องคุยโม้เอาไว้)

อ่านแล้วของขึ้นค่ะ ไม่ชอบนางเอกจริงจังมาก ทุกพฤติกรรมของเธอไม่ได้เรื่อง เธอเลิกไปมาหาสู่กับพระเอก เพราะโดนล่อด้วยข้อเสนอว่า ถ้าเธอเลิกคบพระเอก ก็จะให้กลับไปเป็นครูใหญ่อีกครั้ง (จากเจ้าของโรงเรียนที่มุ่งหวังอยากได้พระเอกไปเอง) ทั้งก่อนหน้าก็ทำตัวเป็นคนดี ห่วงใยลูกชายพระเอก ถึงขั้นไปที่บ้าน หลังจากที่ลูกชายพระเอกเสียใจที่พี่เลี้ยงลาออกไป เธอเสนอตัวเป็นเพื่อนเด็กชายแทน แต่ไม่กี่วันก็รับข้อเสนอ แล้วหายหน้าไปจากชีวิตเด็กน้อย คิดไหมว่า ทำให้เขาผิดหวังเสียใจอีกรอบนึง

เสียดายหนังสือมาก ๆ เพราะการเขียนดีมาก อ่านไหลลื่น จบในเวลาแป๊บเดียว แล้วจริง ๆ ตอนที่อ่านก็สนุกนะ แม้จะขัดใจกับนางเอกมาก ๆ เรารู้สึกแบบนี้กับหนังสือหลายเล่มของคนแต่งคนนี้ค่ะ ถ้าเพียงแค่เธอสร้างคาแร็คเตอร์นางเอกที่ไม่ทำให้เราของขึ้นได้ เรื่องนี้จะดีกว่านี้อีกเยอะ

คะแนนที่ 60



View all my reviews

Thursday, June 27, 2013

Review: Rush


Rush
Rush by Maya Banks

My rating: 3 of 5 stars



ตอนเห็นข่าวเกี่ยวกับหนังสือชุดนี้ เราก็คิดว่า นี่จะเป็นก็อปปี้ของเรื่องแนวฟิฟตี้เชดอีกรึเปล่า แต่เห็นว่าเป็นมายา แบงค์ ก็ไม่คิดว่า มันจะออกมาเหมือนกัน หรือตามรอยเล่มนั้นมากมาย ซึ่งพอได้อ่านเข้าจริง ก็รู้ว่า เราคิดไม่ผิด

เรายังไม่ได้รู้สึกว่า เล่มนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สุดของมายา แบงค์นะคะ แต่ถือว่าเป็นหนึ่งในเล่มที่อ่านได้สนุก ราบรื่นดี โดยเฉพาะเรื่องราวที่ใช้พล็อตแบบที่เราไม่ชอบมากที่สุดพล็อตนึง เพื่อนสนิท และน้องสาวของเขา โดยเฉพาะเล่มนี้มีองค์ประกอบ BSDM เข้ามาผสมด้วย เรายิ่งรู้สึกแบบอี๋ ๆ เล็กน้อย นึกภาพว่า เกบกะมีอารู้สึกกันมาตั้งแต่เธอยังรุ่น ๆ เขาเองก็แก่กว่าเธอมาก รู้สึกเหมือนเฒ่าหัวงูเลย

แต่หลังจากทำใจมองข้ามประเด็นนั้นไปได้ เล่มนี้ถือว่าอีโรติคโรแมนซ์ที่ค่อนข้างลงตัวนะคะ พล็อตเรื่องที่น่าเชื่อ พระเอกที่เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายจากชีวิตคู่มาก่อน ทำให้เขาไม่ยอมที่จะมีความสัมพันธ์กับใครโดยที่ไม่มีสัญญา สัญญาที่บรรยายทุกอย่างชัดเจน เขามีสิทธิ์ทุกอย่างในตัวของมีอา (ปัญหาคือ สัญญาถูกส่งให้ทนายความด้วย เลยทำให้เราคิดว่า มันจะมีผลบังคับทางกม.มากน้อยแค่ไหน หรือเกบส่งให้ทนายเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน กรณีเขาจะถูกผู้หญิงฟ้องทีหลังว่าทำทารุณ)

ความสัมพันธ์ทั้งคู่เริ่มต้น เวลากลางวันมีอาเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของเกบ ที่นอกจากต้องทำงานในสำนักงาน ก็ยังต้องรับใช้เขาทางเพศในที่ทำงานด้วย ซึ่งปกติจุดนี้เราก็จะไม่ชอบนะคะ แต่อ่านเรื่องนี้คนแต่งจูงใจเราให้ยอมรับประเด็นนี้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะมีความชัดเจนจากมีอามาก ๆ ว่า นี่คือสิ่งที่เธออยากจะทำ และมีความสุขที่ได้ทำ อีกอย่างนึงเกบไม่ได้มีลักษณะออกมาเป็น jerk เขาดูรักและห่วงใยมีอาจริง ๆ

ฉากในปารีสเกือบทำให้เราเลิกอ่าน รู้สึกอยากกระโดดเข้าไปบีบคอพระเอกมาก ๆ (แล้วเอาหัวกระแทกฝาผนังแรง ๆ) ช่างหาเรื่องให้นางเอกยิ่งนัก แต่เล่มนี้นางเอกใช้ได้เลยค่ะ เพราะเมื่อมีปัญหาก็ไม่เลือกทางออกแบบโง่ ๆ งี่เง่า เธอเลือกที่จะพูดความจริง และยอมรับผลของมัน

โดยรวมเป็นเรื่องแนวอีโรติคโรแมนซ์ที่ไม่ถึงกับโดดเด่น แต่อ่านได้ไม่ผิดหวัง

คะแนนที่ 63



View all my reviews

Review: How to Dance with a Duke


How to Dance with a Duke
How to Dance with a Duke by Manda Collins

My rating: 3 of 5 stars



เรื่องนี้เป็นเล่มแรกในชุด Ugly Ducklings ที่เล่าเรื่องราวของญาติสาวสามคนที่ถูกขนานนามโดยคนในสังคมด้วยฉายานี้ เพราะพวกเธอเป็นลูกสาว (และลูกเลี้ยง) ของสามพี่น้องสุดสวยที่แต่งงานอย่างประสบความสำเร็จ แต่ดันมีลูก (เป็นพวกเธอ) แล้วไม่ได้ดั่งใจแบบพวกแม่ ๆ

เซซิลี เฮอร์สตันมีสมองมากพอจะรู้ว่า ตัวเองกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาด ลอร์ดเฮอร์สตันผู้เป็นบิดา และนักสำรวจดินแดนอิยิปต์กลับมาจากการเดินทางครั้งล่าสุดด้วยอาการป่วยหนัก หลังจากเส้นเลือดในสมองแตกทำให้พูดไม่ได้ และตอนนี้กำลังนอนรอความตาย เซซิลีต้องการที่จะเคลียร์ชื่อเสียงของบิดาที่ถูกลากเข้าไปพัวพันกับการหายตัวไปของวิลล์ ดาลตัน ผู้ช่วยของเขา ด้วยการตามหาไดอารีที่บิดาเขียนเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้น แต่เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน ทำให้เซซิลีถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปในสมาคมอียิปต์ ซึ่งเป็นสมาคมของผู้รักและคลั่งไคล้อิยิปต์ที่พ่อของเธอเป็นประธานอยู่ (แต่ตอนนี้ทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะป่วย)

เซซิลีจึงวางแผนเพื่อแก้ปัญญาด้วยการหาผู้ชายซักคนมาแต่งงานด้วย ซึ่งเขาจะต้องเป็นสมาชิกในสมาคมอียิปต์ เพราะจะทำให้เธอเข้าไปในสมาคมนั้นได้ และการมีสามีก็จะช่วยให้เธอยังคงรักษาสถานะของตัวเองเอาไว้ได้ หลังจากที่บิดาเสียชีวิต (เพราะเซซิลีเป็นลูกสาวคนเดียว เมื่อพ่อตาย ทรัพย์สมบัติจะตกเป็นของญาติ เธอแทบไม่เหลืออะไรเลย) และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสาวคงแก่เรียนที่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ตัวเอง เพื่ออ่อยผู้ชาย

ในงานเลี้ยงครั้งแรก เซซิลีเจอบัตรเต้นรำของหญิงสาวที่ป๊อปปูล่ามากในวงสังคมตกอยู่ และเพราะพวกเธอไม่ค่อยจะถูกกันเท่าไหรนัก เซซิลีจึงใช้บัตรเต้นรำนั้นเป็นเครื่องมือในการมองหาชายที่เหมาะสม แต่เธอดันไปสะดุดตาชายอีกคนที่ไม่ได้อยู่ในแผนการของเธอน่ะสิ

เริ่มตั้งแต่ลูคัส ดาลตัน ที่แม้จะเป็นถึงดยุคแห่งวินเตอร์สัน ไม่ใช่สมาชิกของสมาคมอียิปต์ แถมเขายังเป็นพี่ชายของวิลล์ที่หายตัวไป (และโทษว่า พ่อของเธอเป็นต้นเอง) แต่แม้เขาไม่ใช่คนที่เธอหมายตา แต่เซซิลีก็ยอมรับว่า การทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาความจริงว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับคณะสำรวจอียิปต์ที่เมื่อกลับมา ทำให้น้องชายของลูคัสหายตัวไป และพ่อของเธอป่วยปางตาย

แต่แล้วความพยามยามค้นหาความจริง ก็ทำให้ทั้งคู่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแต่งงานกัน

อย่างที่บอกไปค่ะ เล่มนี้สนุกกว่าที่คิด จุดเด่นอยู่ที่คาแร็คเตอร์ที่มีความเป็นผู้ใหญ่มาก เราชอบทั้งลูคัส และเซซิลีในความคิดของพวกเขา การเผชิญหน้า และจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ทีระบบ และเป็นขั้นตอนมาก ทำให้เรารู้สึกว่า พวกเขามีตัวตนจริง ๆ ไม่ใช่แค่คาแร็คเตอร์ตามสูตรของนิยายโรแมนซ์

นอกจากนี้นี่ยังเป็นอีกเล่มนึงที่นางเอกเป็นฝ่ายวิ่งหนีความรัก เซซิลีเคยถูกหักอกมาก่อน ทำให้เธอขยาดและหวาดกลัวความรัก ปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองว่าไม่รักลูคัส และเขาเป็นฝ่ายที่ต้องพยายามเปิดหัวใจของเธอให้ได้ กระนั้นเหตุผลที่เธอกลัวความรักก็ดูไม่ค่อยน่าเชื่อเท่าไหร ทำให้เวลาอ่านต้องพยายามไม่คิดถึงเหตุผลเบื้องหลังค่ะ ไม่อย่างนั้นก็จะพาลคิดว่า นางเอกงี่เง่าไปเล็กน้อย

พล็อตเรื่องการค้นหาความจริงก็เขียนออกมาได้โอเคค่ะ คนร้ายผิดคาดเล็กน้อย แต่พอเปิดตัวออกมา ก็มีเหตุผลมาก ๆ กระนั้น (สปอยล์) เราก็คิดว่า มันจะเขียนให้หมอนี่ร้ายเกินไปหน่อยไหม ขนาดว่าเคยฆ่าแม่ของเซซิลีมาก่อน แล้วยังจะตามมาจองเวรพวกเธออยู่ได้ คือเราคิดว่า ถ้าคนมันเลวขนาดนี้ ทำไมไม่มีใครสงสัยเลยหรือไง ทั้งที่คาแร็คเตอร์ในเรื่องนี้ก็ฉลาดกันนะ น่าจะรู้พฤติกรรมของหมอนี่ได้เร็วกว่านี้

โดยรวมเป็นผลงานเปิดตัวที่โอเคค่ะ เราคงตามอ่านต่อเล่มสองแน่ ๆ โดยเฉพาะเมื่อพระเอกเล่มสองสารภาพมาแล้วว่า แอบปิ๊งนางเอกเล่มสองอยู่ (ทำให้เลยต้องมาช่วยนางเอกเล่มแรกแก้ปัญหา)

คะแนนที่ 63



View all my reviews

Review: Wild Invitation


Wild Invitation
Wild Invitation by Nalini Singh

My rating: 3 of 5 stars



Beat of Temptation
นับตามลำดับถือเป็นเล่มเริ่มต้นของชุดไซ/เชนจิ้งค์เลยก็ว่าได้ แต่เรื่องราวไม่ได้เล่าอะไรมากมายเกี่ยวกับโลก (อันน่าตื่นตาตื่นใจ) ในชุดมากนัก แต่ในเล่มนี้เราได้เห็นตัวละครหลักในเล่มต่อ ๆ มา (ลูคัส, ดอเรียน, วอห์น, และอีกหลายคน) ตอนยังเป็นวัยรุ่น และเผ่าดาร์คริเวอร์ยังเป็นแค่เผ่าเล็ก ๆ

เรื่องราวความรักระหว่างเนทและแทมสินไม่ต้องลุ้นอะไรมาก ทั้งคู่รู้ตัวว่าเป็นคู่ของกันและกันตอนที่แทมสินอายุแค่สิบห้าปี และนั่นเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเนท เพราะเขาคิดว่า เธอยังเด็กเกินไป เขาต้องการให้เธอใช้ชีวิตให้คุ้มก่อนที่จะผูกมัดตัวเอง ปัญหาก็คือสิ่งเดียวที่แทมสินต้องการก็คือเนท และการปฏิเสธไม่ยอมเริ่มต้นความสัมพันธ์ทำให้เธอคิดว่า เขาไม่ใยดีเธอ

เรื่องรักพ่อแง่แม่งอนอ่านไปก็น่ารักดีค่ะ แต่ความเข้มข้นสู้เล่มหลัง ๆ ในชุดไม่ได้เลย


Stroke of Enticement
เล่มนี้เกิดขึ้นระหว่างเรื่อง Caressed by Ice กับเรื่อง Mine to Possess แต่อ่านเดี่ยว ๆ ได้สบายค่ะ เรื่องราวของแซค ทหารของเผ่าดาร์คริเวอร์ที่วันนึงโดนครูประจำชั้นของหลานชายเรียกตัวไปรับหลานเจ้าปัญหาที่โรงเรียน แล้วก็เกิดอาการปิ๊งแอนนี่ คุณครูที่เป็นมนุษย์ของหลานอย่างจัง เรื่องราวความรักน่ารัก ๆ ระหว่างมนุษย์และหนุ่มเชนจิงค์ เรื่องราวไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือต้องลุ้น อ่านแล้วน่ารักดี โดยเฉพาะตอนที่แซคไปกินข้าวกับครอบครัวหัวสูงของแอนนี่ แล้วเปิดเผยว่า แท้จริงแล้วเขาก็ไม่ใช่เป็นแค่ทหารกระจอก ๆ ของดาร์คริเวอร์นะ (ทำให้นึกถึงหนังไทยโบราณที่ตอนท้ายสุดพระเอกประกาศตัวว่า จริง ๆ แล้วกระผมคือร้อยตำรวจเอก...

แต่สิ่งเดียวที่เราอ่านแล้วทำให้หัวใจเต้นแรงก็คงเป็นตอนที่แอนนี่เล่าถึงอุบัติเหตุในวัยเด็กให้แซคฟัง เล่าถึงเด็กชายชาวไซที่มีพลัง Tk มหาศาลขนาดยกขบวนรถไฟหัวกระสุนได้ทั้งขบวน และช่วยชีวิตแอนนี่ไว้ (จะเป็นใครไปได้อีกล่ะ)

Declaraton of Courtship
สำหรับเรา เรื่องนี้คือเรื่องที่อ่อนที่สุดในชุด อาจจะเพราะว่าเราอ่านเรื่อง Kiss of Snow จบแล้วต่อด้วยเรื่องนี้ และทุกอย่างใน KoS คือความยิ่งใหญ่ ทั้งตัวละคร พล็อต พอมาเจอเล่มนี้ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ในเรื่อง KoS เราเลยรู้สึกว่า มันช่างธรรมดาเหลือเกิน เรื่องราวการจีบกันของหมาป่าอัลฟ่า กับสาวน้อยที่เป็นคนอ่อนโยน (ในเรื่องใช้คำว่า submissive แต่ไม่ใช่ในความหมายของ BSDM นะคะ เป็นธรรมชาติของนิสัยที่อ่อนโยน และทำให้พวกอัลฟ่าสงบได้ นึกถึงแอนนาจาก Alpha & Omaga น่ะค่ะ)

ไม่ได้มีอะไรเสียหาย แต่ไม่มีอะไรเรียกความสนใจจากเราได้เช่นกัน

Texture of Intimacy
เล่มนี้เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากการรบครั้งใหญ่ใน Kiss of Snow ดังนั้นเราแนะนำให้อ่านต่อเนื่องกันไปจะดีมาก เป็นเรื่องราวของวอร์คเกอร์ และลารา ซึ่งต่อเนื่องจากเหตุการณ์ใน Kiss of Snow ซึ่งทั้งคู่เป็นเหมือนคู่รอง มาเรื่องนี้เป็นเรื่องสั้นที่อุทิศเวลาให้กับความสัมพันธ์ของพวกเขา แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน KoS มาก่อน อาจจะรู้สึกว่า งงไม่น้อย เหมือนโผล่มากลางเรื่องแล้วไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น

ที่แตกต่างจากเรื่องอื่นในเล่มเดียวกัน เรื่องนี้วอร์คเกอร์ และลาราได้เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่กันแล้ว เมื่อวอร์คเกอร์ตัดสินใจละทิ้งไซเลนซ์อย่างจริงจัง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาอายุสี่สิบกว่าปีแล้ว และอยู่ในความเงียบมาตลอดชีวิต แต่ความรู้สึกที่เขามีต่อลารา ทำให้ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจได้ แต่การเริ่มต้นชีวิตกับใครบางคน โดยเฉพาะคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และนั่นเป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่กระท่อนกระแท่นเล็กน้อย

เล่มนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งที่ชัดเจน เหมือนการขยายความ และให้บทสรุปที่จบสมบูรณ์ในความสัมพันธ์ของวอร์คเกอร์ และลารา ซึ่งเราชอบมากนะคะ เพราะเราไม่ชอบการที่เรื่องของพวกเขาไปแทรกอยู่ใน KoS เพราะเป็นการดึงความสนใจไปจากฮอร์คและเซียนนา และไม่ยุติธรรมต่อทั้งคู่ด้วย

ในภาพรวมของพล็อต เล่มนี้เล่าเหตุการณ์ภายหลังสงครามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น และชี้ให้เห็นว่า แม้จะชนะ แต่ก็ยังมีอีกหลายศึกที่ต้องเตรียมรับมือ

คะแนน (ทั้งเล่ม) ที่ 70



View all my reviews

Review: Bonds of Justice


Bonds of Justice
Bonds of Justice by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



เราดองเรื่องนี้อย่างไม่มีสาเหตุนะคะ จู่ ๆ ก็มีความรู้สึกว่า อยากจะเก็บงานของนลินี ซิงห์เอาไว้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลก เพราะนี่เป็นหนังสือชุดแนวพารานอมอลที่เราชอบมากที่สุดชุดนึง แต่เราก็อดทนได้ถึงสามปี และเหตุผลเดียวที่หยิบมาอ่านก็เพราะเล่มล่าสุดเรื่อง Heart of Obsidian

การกลับมาอ่านงานของเธออีกครั้งหลังจากดองมานานก็พิสูจน์ว่า ความคิดของเราไม่ผิด นลินี ซิงห์เป็นนักเขียนที่มีความสามารถ และเก่งจริง ๆ นาทีนี้เรายกให้เธอเป็นเบอร์หนึ่งในการเขียนเรื่องแนวพานานอมอลเลยนะคะ ทั้งในเรื่องของพล็อต (ที่สุดยอด) และคาแร็คเตอร์ โดยเฉพาะเรื่องนี้เธอพิสูจน์ฝีมือจริง ๆ

ทั้งแม็กซ์ และโซเฟียไม่ใช่ตัวละครที่มีบทบาทโดดเด่นในเล่มก่อนหน้า ต้องถือว่า ไม่ใช่เรื่องราวที่คนอ่านรอคอย นี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เรารู้สึกว่า ไม่ต้องรีบอ่าน เพราะเราไม่รู้จักโซเฟีย (เธอเป็นคาแร็คเตอร์หน้าใหม่) และแม็กซ์ที่แม้จะมีบทบาทในเล่มก่อนหน้า แต่เราก็แทบจำไม่ได้ แต่หลังจากอ่านเล่มนี้ เรากลับรู้สึกผูกพันกับตัวละครทั้งคู่ รักใคร่ใยดีพวกเขาราวกับเป็นพี่น้อง

เราไม่แน่ใจว่า คนที่เริ่มต้นอ่านที่เล่มนี้จะตามรายละเอียดได้ครบไหมนะคะ ดังนั้นการเขียนรีวิวจึงเป็นการเขียนแบบสปอยล์เล่มก่อนหน้า และตั้งอยู่บนสันนิษฐานว่า คนที่อ่านรู้เรื่องแบ็คกราวด์ของหนังสือชุดนี้แล้ว

โซเฟีย รุสโซเป็นชาวไซที่มีความสามารถพิเศษในการมองเห็น "ความทรงจำ" และนั่นทำให้เธอเป็นตัวเลือกอย่างดีในการทำงานด้านการพิทักษ์ความยุติธรรม เพราะเธอสามารถมองเห็นลึกเข้าไปในความคิดของอาชญากร เห็นสิ่งที่พวกเขากระทำ จากนั้นคำให้การของเธอก็จะถูกใช้ในศาลเพื่อเอาผิดคนเหล่านั้น แต่ทั้งหมดนั่นก็แลกกับชีวิตทั้งชีวิตของเธอ เพราะทุกคนรู้ดีอยู่ว่า ชาวไซที่มีความสามารถแบบนี้จะมีอายุไม่ยืนยาว ภาพและความทรงจำที่พวกเขาและเธอได้เห็นในสมองของอาชญากร มันมากเกินไป มันกัดกร่อนพวกเขา และทำลายพวกเขาอย่างช้า ๆ

และทุกอย่างกำลังจะจบลงสำหรับโซเฟีย เธอรู้ว่า เวลาของตัวเองกำลังเหลือไม่มาก

แต่เมื่อถูกเรียกตัวไปสืบสวนคดีพิเศษที่มอบหมายโดยสภาชิกสภาชาวไซอย่างนิกิต้า ดันแคน โซเฟียก็มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอีกครั้ง ชีวิตที่เธอไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาส เพราะเธอต้องทำงานร่วมกับนักสืบแม็กซ์ แชนนอน ชายที่เธอมีโอกาสพบในคดีก่อนหน้า ชายคนที่มีอะไรบางอย่างสามารถเจาะเกราะแห่งความเย็นชาของชาวไซที่เธอเป็นได้

หลังจากหลายเล่มที่เขียนเรื่องที่พระเอกเป็นผู้มีพลังพิเศา ไม่ใช่ชาวไซ ก็เป็นเชนจิ้งค์ ในที่สุดเล่มนี้ก็เจอพระเอกที่เป็นคนธรรมดากันบ้าง และแม็กซ์ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลยนะคะ

แม็กซ์และโซเฟียเป็นตัวละครที่ค่อนข้างใหม่ในชุด และไม่มีภูมิหลังที่คนอ่านคุ้นเคยมาจากเล่มก่อนหน้า ดังนั้นเราแปลกใจตัวเองมาก ๆ เลยนะคะที่เกิดความรู้สึกผูกพันกับพวกเขาได้อย่างรวดเร็ว ต้องยกความดีให้กับคนแต่งที่ทำให้เรารู้สึกเข้าถึง และเข้าใจความคิดของทั้งสอง โซเฟียที่เย็นชาจากการถูกฝึก และความจำเป็น เริ่มรู้สึกมากขึ้น ในขณะเดียวกันเวลาที่เธอรู้ว่า ตัวเองเหลือน้อยลงทุกทีก็บีบคั้นความรู้สึกของคนอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฎชัดเจนว่า เธอไม่ได้มีทางเลือกอย่างนางเอกคนอื่น ๆ ที่เป็นชาวไซในเล่มก่อนหน้า (ที่สามารถออกจากไซเน็ตได้ เราอ่านความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่พัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ แม็กซ์ผู้ซึ่งไม่ยอมรับคำปฏิเสธเป็นผู้ชายที่เหมาะสมกับโซเฟีย

ที่แถมมากกว่าเล่มอื่นก็คือ เล่มนี้มีพล็อตสืบสวนเล็ก ๆ ที่ทั้งโซเฟีย และแม็กซ์ต้องทำงานร่วมกันในการหาตัวผู้ทรยศนิกิต้า นอกจากนี้ในเล่มนี้ก็เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึก "เป็นมิตร" มากขึ้นกับนิกิต้า (ซึ่งเป็นแม่ของซาชา นางเอกเล่มแรก Slave to Sensation) โดยเฉพาะฉากช่วงท้ายเรื่องซึ่งได้ใจ และชัดเจน ชนิดที่ไม่ต้องบรรยายอะไรให้มากมาย เราก็รู้ว่า แท้จริงแล้วนิกิต้าคิดอย่างไรกับลูกสาว

ยอมรับนะคะว่า เราคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาซาและนิกิต้าน่าจะมีอะไรมากกว่าที่เห็น แต่ไม่คิดว่า นิกิต้าจะรู้สึกได้ลึกซึ้งขนาดนี้ แต่ดูแล้วสมเหตุสมผล และเข้ากับเรื่องที่วางเอาไว้ตั้งแต่เล่มก่อนหน้า

จุดเดียวที่อาจจะเรียกว่าเป็นข้อเสีย แต่จริง ๆ เราก็ไม่คิดแบบนั้นหรอกค่ะ คือ พล็อตเรื่องในภาพรวมดูแล้วค่อนข้างออกห่างจากตัวละครเอกในเรื่อง เพราะความจริงก็คือ แม็กซ์และโซเฟียเป็นเบี้ยที่เล็กมาก ๆ ในกระดานหมากแห่งการชิงอำนาจของไซ แต่ต้องถือว่า พล็อตใหญ่ของชุดเดินหน้าไปเยอะมากในเล่มนี้ และสำหรับเราไปได้ไกลกว่าที่คิดเอาไว้ (เรายังคิดว่า ยังไงก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเล่มกว่าจะมาถึงจุดที่สภาไซแตก และแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน

ตอนจบเรารู้สึกเหมือนเรื่อง Blaze of Memory ค่ะ คือง่ายไปหน่อยในการแก้ปัญหา แต่จากเหตุผลที่อธิบายในเรื่องก็ดูลงตัวเหมาะสม ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า คิดขึ้นมาใหม่เพื่อทำให้นางเอกรอด

ประเด็นที่คาใจในเล่มนี้ก็คือ ริเวอร์ มีความรู้สึกว่า เขาจะต้องมีบทบาทสำคัญในเล่มต่อไปแน่ ๆ

สรุปแล้วเรื่องนี้สนุกกว่าที่คิดมาก ๆ ไม่ได้คาดหวังว่า เรื่องที่เล่าถึงตัวละครที่เราไม่ได้รู้จัก จะทำให้เรา "อิน" เข้าไปกับเรื่องได้มากขนาดนี้

คะแนนที่ 80

ป.ล. อันนี้เป็นบันทึกส่วนตัวของเราเอง เพราะสิ่งที่เราสนใจมากที่สุดในชุดนี้มีอยู่สองประเด็น

เคเล็บ: เล่มนี้ออกมามีบทเยอะมาก และเท่ห์มาก ยิ่งอ่านยิ่งอยากรู้เรื่องของเขา ในเล่มนี้บอกใบ้เหมือนกับว่า เขากำลังตามหาบางสิ่ง และในที่สุดก็ได้เงื่อนงำของมัน
โกสต์: เล่มนี้เงียบและไม่มีบทบาทเอาเสียเลย

และเรายังรู้สึกว่า ทั้งสองประเด็นที่เราติดตาม ในที่สุดแล้วจะกลายเป็นประเด็นเดียวกันในที่สุด



View all my reviews

Review: Caressed By Ice


Caressed By Ice
Caressed By Ice by Nalini Singh

My rating: 5 of 5 stars



ตั้งใจจะอ่านเล่มนี้เพื่อเป็นการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับโลกในชุดเท่านั้น (โดยไม่เน้นเรื่องโรแมนซ์ของคู่หลัก) แต่พออ่านเข้าจริงก็อดใจไม่ได้นะคะ สำหรับเราแล้ว เล่มนี้คือเรื่องที่ดีที่สุดในชุด (อย่างน้อยก็จนกระทั่งเราได้อ่าน Heart of Obsidian)


นี่เป็นรีวิวที่เราเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่อ่านจบใหม่ ๆ ความเห็นของเราหลังจากกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ จะอยู่ช่วงท้ายค่ะ

เล่มสามในชุด Phy/Changeling ของนรินี ซิงค์ เล่มที่แม็กซ์ถือว่าดีที่สุดในชุด ลงตัวที่สุด น่าอ่านและน่าติดตามที่สุด

จุดเด่นของหนังสือชุดนี้ก็คือ ข้อมูลไม่ถูกปล่อยออกมาจนคนอ่านมึนกะบาลซึ่งต่างกับหนังสือแนวพารานอมอลชุดอื่น ๆ นรินีค่อยปล่อยข้อมูลตามแต่ที่จำเป็นออกมา ตัวละครก็ไม่ถึงกับเดินผ่านฉากแล้วพร่ำพูดแต่ว่า "กูเป็นพระเอกเล่มถัดไปนะโว้ย" หากแต่ตัวละครทุกตัวของเธอที่ออกมา มีส่วนสำคัญในเรื่อง

และหลังจากที่โฟกัสให้ความสำคัญกับเผ่าเสือดาวมาสองเล่ม ในเล่มนี้จุดสนใจก็มุ่งไปที่เผ่าหมาป่า เล่าเรื่องราวของเบรนน่า หญิงสาวที่เป็นผู้รอดตายเพียงหนึ่งเดียวจากฆาตกรโรคจิตในเล่มหนึ่ง

เบรนน่าเป็นนางเอกชนิดที่แม็กซ์อดไม่ได้ที่จะชอบ เธอเป็นนางเอกประเภทที่ดีที่สุด ไม่กล้าจนน่ารำคาญ ไม่หงอจนน่ากระทืบ เธอผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย ถูกฆาตกรโรคจิตจับตัวไปทรมานเสียนานสองนาน จิตใจถูกบุกรุก (จากพลังจิตของคนร้าย) แต่เธอยังกล้าหาญ และที่สำคัญเธอกล้าที่จะรัก

เพราะต้องใช้ผู้หญิงที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่งที่จะรักจัดด์ ลอเรนส์ เพราะเขาเป็นไซที่ไร้ความรู้สึก โดยเฉพาะในกรณีของเขา การไร้ความรู้สึกอาจเป็นทางเลือกเดียวที่เขามี นั่นเพราะคนที่มีความสามารถทางพลังจิตชนิดเดียวกับเขาล้วนแต่เป็นฆาตกร หรือไม่ก็บ้า เขาที่มีความสามารถเช่นเดียวกับเขาเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวไซตัดสินใจกำจัดความรู้สึกของตัวเองออก เพื่อกำจัดความรุนแรงในสังคมของเธอ

และแม้ว่าจัดด์จะตัดขาดออกจากเครือข่ายของชาวไซ เขาก็ไม่อาจละทิ้ง "ความเงียบ" (ความเงียบเป็นชื่อเรียกการไร้ความรู้สึกซึ่งชาวไซสั่งสอนเด็กของพวกเขา) เพราะเขาเป็นตัวอันตรายต่อทุกคนที่อยู่ใกล้

ในโลกแห่งไซ จัดด์เป็นนักฆ่า เป็นหน่วยแอโรว์หรือมือสังหารที่กำจัดทุกคนที่เป็นศัตรูต่อความเงียบ แต่อีกด้านหนึ่งเขากลับเป็นกบฎที่ทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านสภาแห่งไซ เพื่อรักษาสิทธิของชาวไซ

จัดด์ต้องรับศึกหนัก หน้าที่หนึ่งเขาต้องต่อสู้เพื่อคนของเขา ในอีกด้านเขาก็ต้องกำจัดความรู้สึกที่เขามีให้เบรนน่า เพราะรู้ว่าถ้าเขาปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมา อาจหมายถึงความตายของผู้หญิงที่เขารักที่สุด

แม็กซ์เห็นตัวละครอย่างจัดด์แล้สวก็อดไม่ได้ที่จะชอบ ผู้ชายที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เขาพยายามปฏิเสธเธอ แต่ก็ทำไม่ได้ และที่สำคัญเบรนน่าไม่ยอมให้ผู้ชายที่เธอรักปฏิเสธเธอง่าย ๆ เช่นกัน

โลกในหนังสือชุดนี้ช่างน่าสนใจ และน่าติดตาม ในสองเล่มแรกแม็กซ์ยอมรับว่ายังไม่ถึงกับติดใจโลกที่นรินีสร้างมากนัก แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะเล่มนี้ที่ทำให้แม็กซ์ต้องบอกว่า กลายเป็นแฟนหนังสือของนรินีไปแล้ว

ในเล่มนี้เราได้รู้จักกับตัวละครที่แม็กซ์เห็นว่าสำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือโกสต์ หรือผู้นำกบฎชาวไซ คนที่ยังอยู่ในเครือข่ายของชาวไซ แต่กลับต่อต้านวิธีการของไซในการกำจัดความรู้สึก ไม่มีใครรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา แต่แม็กซ์ขอทายตอนนี้เลยแล้วกัน คนที่กลัวสปอยล์ก็ไม่ต้องอ่าน แต่ก็ไม่น่าจะเรียกว่าสปอยล์นะ เพราะแม็กซ์เดาเอาน่ะ คาเล็บสมาชิกแห่งสภาชาวไซคือคนที่แม็กซ์ต้องสงสัยว่าเป็นโกสต์

คะแนนที่ 90


กลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง ก็คงต้องบอกว่า เล่มนี้ยังคงทรงพลังเหมือนเดิม ยังทำให้เรามีอารมณ์ร่วมเหมือนเดิม หนังสือที่เรารู้เรื่องแล้ว (และจำได้เป็นส่วนใหญ่) แต่ยังทำให้เราอ่านชนิดที่ไม่ยอมหลับยอมนอนได้เช่นเดิม

องค์ประกอบที่โดนใจเรามาก ๆ ก็คงเป็นคาแร็คเตอร์ของทั้งพระเอกและนางเอก ซึ่งระหว่างที่อ่าน (ใหม่) เรานึกถึงเรื่องนี้เปรียบเทียบกับเรื่อง The Bride ของจูลี การ์วู้ดนะคะ

หลายคนคงมีคำถามว่า ทำไม เพราะทั้งสองเรื่องแตกต่างกันอย่างมาก

จุดที่เหมือนกันของทั้งสองเล่มก็คือ ตัวเอก (ในเล่มนี้คือจัดด์ แต่ในเรื่อง The Bride ก็คือเจมี นางเอกของเรื่อง) คือคนแปลกหน้า เป็นเผ่าพันธุ์ที่ถูกมองด้วยสายตาอันหวาดระแวง ด้วยความเกลียดชัง จะต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ในเล่มนี้จัดด์คือชาวไซ ที่เย็นชา ไร้อารมณ์ เขากลับต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าสโนว์แดนเซอร์ ชาวเชนจิงค์หมาป่าที่รักแรง และเกลียดแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกิดในเล่มแรก เมื่อชาวไซลักพาตัวเบรนนา หนึ่งในพวกเขาไปกักขังและทรมาน จัดด์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ และเย็นชาอย่างชาวไซ เป็นเป้าหมายที่เด่นชัดที่สุด ตลอดทั้งเล่มนอกจากโรแมนซ์ระหว่างเขาและเบรนนาแล้ว จึงเป็นเรื่องของการยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่งของในกลุ่มคนที่เริ่มต้นด้วยกันอย่างมีอคติ ประเด็นนี้โดนใจ ได้ใจเราแบบเต็ม ๆ เพราะเมื่อการกระทำของเขาถูกยอมรับ มันก็เปลี่ยนการมองโลกของจัดด์ไปเลย เมื่อเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่าง

อีกจุดนึงที่ได้ผลกับเรามาก ๆ ก็คือคาแร็คเตอร์ของนางเอก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะไม่ได้ให้ความสนใจมากมายนัก (ขอแค่ทำตัวไม่น่ารำคาญ งี่เง่า เราก็พอใจแล้วล่ะ) เพราะเรื่องนี้จะไม่น่าอ่านเอาเสียเลย ถ้าเบรนนาเป็นกุลสตรีเก็บเนื้อเก็บตัว ในเมื่อฝ่ายชายซึ่งเป็นชาวไซเย็นชาซะขนาดนั้น ถ้าเบรนนาไม่ตามตื้อ ไม่ทอดไมตรี เรื่องโรแมนซ์คงเกิดขึ้นยาก

เราให้คะแนนนางเอกเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อคิดถึงสิ่งที่เธอประสบในน้ำมือของคนร้ายเล่มแรก เบรนนาไม่กลัวที่จะแสดงความรู้สึก ที่จะแสดงความรัก และเธอรู้ใจตัวเอง นี่เป็นนางเอกแบบที่เราชอบมากที่สุด เราเชื่อว่า ถ้าคาแร็คเตอร์ของเบรนนาไม่ได้เป็นแบบนี้ ก็คงจะไม่มีวันละลายน้ำแข็งที่อยู่รายล้อมจัดด์ได้

มากไปกว่านั้น วิธีการที่คนแต่งให้คำตอบ/ทางออกต่อพลังอันน่ากลัวของจัดด์ เป็นอะไรที่ฉลาดมาก และเป็นการมอบทางเลือก ทำให้เขาเห็นว่า ตัวเองสามารถเป็นได้มากกว่าข้อจำกัดที่คนอื่นมอบให้เขา ฉากที่เขาช่วยชีวิตดรูวทรงพลังอ่านอีกรอบก็ขนลุกอีกรอบ

โดยรวมเล่มนี้คือ เรื่องที่ทำให้เรากลายมาเป็นสาวกงานเขียนของนลินี ซิงห์ เพราะก่อนหน้าแม้จะชอบโลกที่เธอสร้างขึ้น และชอบวิธีการเล่าเรื่องของเธอ แต่เล่มนี้เป็นเล่มที่องคืประกอบทุกอย่างลงตัวพอดีอย่างสมบูรณ์แบบ เล่มนี้คือหลักที่เราใช้ในการประเมินหนังสือทุกเล่มที่เธอเขียน มันดีขนาดนั้น

คะแนนที่ 90

ป.ล. เล่มนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวโกสต์ นักปฏิวัติที่ทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางแผนการของสภาชาวไซที่ต้องการครอบงำประชาชน และจัดด์เป็นหนึ่งอีกสองคนที่ทำงานร่วมกับโกสต์ กระนั้นเขาก็ยังไม่รู้ว่า ตัวตนที่แท้จริงของโกสต์คือใคร

นอกจากนี้เล่มนี้คนอ่านได้รู้จักเคเลบมากขึ้น แม้จะไม่ใช่ในทางที่ดีสักหน่อย จากประวัติของเขาที่นิกิต้าหามาได้ มันบ่งชี้ไปในด้านมืดมากกว่าความสว่าง แต่สำหรับเราก็ยังคงยึดมั่นค่ะ ชอบคาแร็คเตอร์แนวนี้อยู่แล้ว



View all my reviews

Review: Heart of Obsidian


Heart of Obsidian
Heart of Obsidian by Nalini Singh

My rating: 5 of 5 stars



เป็นรีวิวที่เขียนยากค่ะ เพราะนี่เป็นหนังสือเรื่องที่เราชอบมากที่สุด ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ชอบไปหมดทุกส่วนในหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเล่มนี้เล่าเรื่องราวของคาแร็คเตอร์ที่เรารอคอยมานาน เรื่องราวที่เราคาดหวัง ตั้งความหวัง มากเสียจนเราแทบจะไม่กล้าหยิบมาอ่าน

เป็นหนังสือที่อ่านแล้ว ทำให้เรามีความสุขในชีวิตมาก ไม่รู้จะอธิบายยังไงนะคะ อ่านแล้วรู้สึกดีใจที่เราอ่านหนังสือออก เพราะทำให้เราได้เข้าถึงหนังสือที่สนุกมากอย่างเล่มนี้

รีวิวที่จะเขียนต่อไป เป็นไปไม่ได้เลยนะคะที่จะไม่สปอยล์เนื้อหาในเล่มนี้ และเล่มก่อนหน้า ดังนั้นโปรดใช้ความระมัดระวังในการอ่านด้วยค่ะ

ความขัดแย้งที่เริ่มต้น และดำเนินผ่านหนังสือหลายเล่ม ในที่สุดก็มาถึงจุดแตกหัก สังคมชาวไซเกิดสงครามกลางเมือง ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มเพียวไซที่ทำทุกอย่างเพื่อรักษามาตรการไซเลนซ์เอาไว้ พวกเขาเชื่อว่า มาตรการนี้เท่านั้นจะทำให้ชาวไซกลับมาเป็นผู้นำของโลกได้อีกครั้ง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเช่นนั้น และหลังจากหนึ่งร้อยปีที่ไซเลนซ์ถูกนำมาใช้ ทุกอย่างกำลังพังทลายลง กลุ่มเพียวไซซึ่งเชื่อในไซเลนซ์ แต่ในแง่หนึ่งพวกเขาก็มีส่วนในการทำลายไซเลนซ์เช่นกัน เมื่อวิธีการที่พวกเขาใช้ก็คือ การก่อการร้าย ฆ่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วย เมื่อแผนการหลายอย่างล้มเหลว การฆ่าก็กลายเป็นการฆ่าแบบไม่เลือก โลกกำลังอยู่ในภาวะอันตราย เพราะแม้จะเป็นเรื่องของชาวไซ แต่ผลกระทบกำลังส่งมาถึงมนุษย์ และชาวเชนจิ้งค์

แต่สำหรับเคเลบ ครายแช็คแล้ว ไม่มีอะไรสำคัญเลย ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ๆ สำหรับอดีตสมาชิกสภาชาวไซ คนที่มีความทะเยอทะยานมาเกือบตลอดชีวิตที่จะขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด ต้องการครอบครองไซเน็ตแต่เพียงผู้เดียว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการที่สุด มันแค่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาเพียงเพื่อคนเพียงคนเดียว

เป็นเวลาเจ็ดปีที่คนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขาหายตัวไป และในฐานะของคนที่ถูกเรียกว่าทรงอิทธิพลที่สุดในไซเน็ต เคเลบไม่สามารถแม้แต่จะตามหาเธอได้ด้วยซ้ำ หลังจากวางแผนยาวนาน และทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมายเดียวในการให้เธอคืนกลับมา ในที่สุดเขาก็เจอหญิงสาวที่เขาตามหา หญิงสาวคนที่เขาคิดเสมอว่า คือของของเขา คนที่เขายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เธอกลับมา และมากไปกว่านั้น คนที่เขาเชื่อฟังขนาดที่หากเธอต้องการให้ทำลายโลกใบนี้เพื่อการแก้แค้น เขาก็พร้อมจะยอมทำ

เพราะสำหรับเขาแล้ว เธอคือคนเพียงคนเดียวที่สำคัญที่สุด และหากเธอไม่ชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็ไม่มีใครสมควรมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เหมือนกัน

"Only this star matters." His thumb brushing over her inner wrist. "Should it be erased, o other has the right to live."
"I'd line the streets with bodies before I'd ever hurt you."

คุณจะไม่กรี๊ดได้ยังไงกับหนังสือโรแมนซ์ที่พระเอกแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อคนเพียงคนเดียว และตัวตนที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน ตัวตนที่หลายคนตั้งข้อสงสัย หวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เกิดขึ้นเพราะเขาจำเป็นต้องกระทำ ฉากที่เขามอบของขวัญวันเกิดให้กับซาฮาราย้อนหลังตั้งแต่ปีที่เธอหายตัวไป จนถึงเวลาที่เธอกลับมา เป็นการเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของเคเลบ การที่เขากลายเป็นมีดที่ถูกชักออกมา กลายเป็นอาวุธอันตราย ก็เพราะนั่นคือสิ่งที่เขากลายเป็นในวันที่เธอหายตัวไป

เราลุ่มหลง คลั่งไคล้ คาแร็คเตอร์ของคาเลบ ครายแช็คแทบจะตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเขาถูกกล่าวถึงใน Vision of Heat ทั้งที่เขาไม่มีบทบาท และการที่ถูกกล่าวถึงก็ไม่ได้ส่งสัญญาณ "พระเอกเล่มหน้า" ด้วยซ้ำ นั่นเพราะเราใจอ่อนเสมอกับคาแร็คเตอร์สีเทา ตัวละครที่ไม่มีใครรู้ว่า เจตนาที่แท้จริงของเขาคืออะไรกันแน่ ตัวละครที่การกระทำของเขาตีความไปได้ในหลายรูปแบบ วิธีการที่คนแต่งสร้างคาแร็คเตอร์ของเคเลบ เขาสามารถกลายเป็นผู้ร้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหนังสือชุดนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเธอเลือกที่จะทำให้เขากลายเป็นตัวเอกของเรื่อง เธอก็คงความเป็นเคเลบที่คนอ่านรู้จักมาตั้งแต่ต้น

นลินี ซิงห์ไม่ได้เอาเคเลบไปชุบตัว ย้อมสีแล้วทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ เขายังคงเป็นคนเดิม ชายที่ทำอะไรหลายอย่างที่เลวร้าย คนที่แทบจะไม่เคยทำอะไรโดยที่ไม่วางแผน หรือมีเหตุผลแอบแฝง นี่คือคนคนเดียวกับที่เราหลงใหลตอนที่ได้เจอกับเขาในเล่มก่อนหน้า แต่ในขณะเดียวกันเราอ่านเล่มนี้ด้วยความเชื่ออย่างสุดใจว่า เขาจะไม่ทำอะไรที่เลวร้ายเกินไป อย่างน้อยเขาก็คงจะไม่ทำตราบใดที่ซาฮาร่ายังมีชีวิตอยู่ เราไม่อยากคิดนะคะว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกในหนังสือชุดนี้ ถ้าบางสิ่งเกิดกับซาฮารา เพราะคนเพียงคนเดียวในโลกใบนี้ที่ควบคุมเขาได้ ก็คือซาฮารา

แม้กระนั้นเมื่อเขาหาซาฮาราจนเจอ เคเลบไม่ได้เปลี่ยนแปลง หรือพยายามกลายเป็นคนดีที่สุดเพื่อเธอ หลายฉากหลายตอนในเรื่องเขาก็ยังคงเล่นเกมเพื่ออำนาจอยู่ การกระทำหลายอย่างดูเหมือนเป็นการจัดฉาก และวางแผนไว้ล่วงหน้า คนอ่านได้มองเห็นมุมมองของเคเลบต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่อง แต่อย่างที่บอกว่า มันเป็นมุมมองแบบเดิมที่พวกเราเคยเห็น ความคิดที่เจ้าเล่ห์ เล็งเห็นผลล่วงหน้า จนหลายครั้งทำให้สงสัยว่า การกระทำของเขามีจุดประสงค์อะไรกันแน่

การที่เขาปรากฎตัวไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากเหตุการณ์ก่อการร้ายของกลุ่มเพียวไซ เป็นการกระทำที่พระเอกมาก เท่ห์มาก แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อเคเลบคิดถึงสิ่งเหล่านี้ เขากลับมองว่า นี่เป็นทางที่เขาจะสร้างความมั่นใจ และทำให้ชาวไซเลือกที่สนับสนุนเขาในการขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด เราไม่รู้ว่า คนอื่นจะคิดยังไงนะคะ แต่สำหรับเรานี่มันเคเลบมาก ๆ และไม่ได้ทำให้เรามองเขาในแง่ลบเลยแม้แต่น้อย

นั่นเพราะในความเห็นของเรา สิ่งที่เคเลบมองว่า ตัวเองเป็น หรือคิดจะเป็น ไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ตัวตนของเขาเป็น ตลอดทั้งเรื่องเราได้เห็นความคิดของเขา (หรืออีกตัวตนนึงของเขา) ก็จะเห็นชัดเจนว่า เขามักจะคิดว่า ตัวเองสามารถทำในสิ่งที่เลวร้ายได้ เย็นชาพอที่จะลงมือ แต่พอมาถึงจุดที่จะต้องทำ เขาหาเหตุผลมาอธิบายการที่ตัวเองเลือกที่จะทำอีกทางเลือกนึงเสมอ เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ ในเรื่อง Kiss of Snow เมื่อเขา (ในฐานะของโกสต์) คิดที่จะไม่บอกความจริงกับจัดด์เกี่ยวกับอลิซ อัลดริจท์ คิดว่าเซียนนาเป็นตัวแปรที่อาจทำให้แผนการของเขาล้มเหลวได้ แต่ในท้ายที่สุดเขาส่งมอบอลิซให้กับจัดด์ และอธิบายตัวตนของเซียนนา (ซึ่งมีพลังอันร้ายกาจ) ต่อซาฮาราในเล่มนี้ว่า เขาปล่อยเธอไว้ตามลำพัง เพราะเธอไม่ได้เข้ามายุ่งกับเรื่องของเขา ถ้าใครที่ไม่ได้อ่านเรื่อง Kiss of Snow คงจะไม่คิดอะไรมากกับคำอธิบายนี้ และเชื่อว่าจริง แต่เห็นได้ชัดว่า เคเลบเลือกที่จะช่วยเซียนนา เพราะเห็นแก่มิตรภาพกับจัดด์

แล้วสิ่งที่เขาวางแผนมาตลอดเกี่ยวกับซาฮารา คิดกระทั่งจะออกตามล่าถ้าเธอหนีเขาไป วางแผนสารพัดที่จะทำได้ ท้ายที่สุดก็แค่เธอบอกว่า เธอต้องการอิสระ และกลับไปครอบครัว ง่าย ๆ แค่นั้น แผนการทุกอย่างที่วางมา สิ่งที่เขาคิดว่า ตัวเองจะทำเพื่อรั้งให้หญิงสาวคนนี้อยู่กับเขาก็จบลง เขาเลือกที่จะปล่อยเธอไป (พร้อมกับแผนการในใจที่จะดึงตัวเธอกลับมา) นี่เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่เขาคิด กับสิ่งที่เขาจริง ๆ มันแตกต่างกันมาก

แต่ทั้งหมดนั่นไม่ได้หมายความว่า เราคิดว่า เคเลบเป็นคนดี และจะไม่ทำในสิ่งที่เลวร้าย เราเชื่อว่า เขาสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อซาฮารา และถ้าเขาสูญเสียเธอไป จะไม่มีใครที่ปลอดภัยอีก

จากตัวตนของเคเลบ นำมาสู่ตัวตนของนางเอกของเขา ซาฮารา ไคราคัสเป็นคาแร็คเตอร์ที่คนอ่านไม่เคยเจอมาก่อน (นอกจากชื่อที่ถูกเอ่ยถึงใน Vision of Heat) เราไม่ได้มีความคาดหวังใด ๆ ทั้งสิ้น อันที่จริงก่อนเริ่มอ่าน จากตอนจบของ Tangle of Need เราออกจะขยาดเล็ก ๆ ด้วยค่ะ เพราะซาฮาราเพิ่งหลุดมาจากที่คุมขัง เวลาเจ็ดปีที่เธอเป็นนักโทษ และถูกทรมานต่าง ๆ นานา เราไม่อยากจะคิดว่า สภาพร่างกายและจิตใจของเธอจะพังทลายขนาดไหน เรานึกถึงเรื่อง Blaze of Memory เลยนะคะ ไม่อยากอ่านเรื่องที่นางเอกเป็นเหยื่อ เราอยากให้เคเลบได้นางเอกที่เข้มแข็ง

ความกลัวของเราที่มีต่อนางเอกเป็นความคิดฟุ้งซ่านของเราเองค่ะ เพราะซาฮาราคือคนคนนั้นสำหรับเคเลบ เธอเป็นนางเอกที่ให้เราจินตนาการเองก็คงจะคิดไม่ถึง และคิดไม่ได้ เธอคือคนที่สมบูรณ์แบบสำหรับเขา

ในยามที่ความทรงจำลางเลือง เธอไม่รู้ว่าตัวเองและเคเลบเคยเป็นอะไรต่อกัน แต่สัญชาตญาณก็ยังบอกเธอเสมอว่า เขาคือคนที่ปลอดภัย และเธอเลือกที่จะเชื่อสัญชาตญาณนั้นด้วยการต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณของเขา ฉากหลังจากที่เธอทวงของขวัญวันเกิดจากเคเลบ หลังจากที่ก่อนหน้าวิ่งหนีไปจากเขา (เมื่อเขาบอกเธอเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เขามีกับซานตาโน เอนริค) ชนะใจเราไปเลย ในเวลานั้นซาฮารายังไม่แน่ใจว่า เขาคือใคร และสำคัญอย่างไรในชีวิตของเธอ แต่เธอเชื่อ และเลือกจะเดินกลับมาหาเขาก่อน

นั่นทำให้เราเชื่อว่า เธอเป็นคนที่สามารถพาเขาออกจากโลกมืดที่เขาใช้ชีวิตอยู่ได้ และจะเป็นหลักยึดทางศึลธรรมที่ตัวเขาไม่มี ยิ่งไปกว่านั้น เธอรู้จักเขาดียิ่งกว่าใคร เวลาที่เธอให้เหตุผลเพื่อให้เขาเลือกทำในสิ่งที่ถูก ซาฮาราไม่ได้อ้อนวอนขอให้เขาคิดถึงความดีงาม หรือความถูกต้อง แต่เธอให้เหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขา เพราะเธอรู้จักเขาดี ไม่ใช่เพราะว่าเป็นคนชั่วร้ายที่คิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง แต่เป็นเพราะเธอรู้ว่า เขามองตัวเองเป็นคนอย่างไร (ก็กลับไปสิ่งที่เราคิดว่า เคเลบไม่ได้มองตัวเองตามความเป็นจริง และคิดว่าตัวเองเลวร้ายกว่าความเป็นจริง)

คิดไปแล้วนะคะ ถ้าเคเลบไม่ได้เจอกับซาฮาราเมื่อหลายปีก่อน ตอนจบของเล่มนี้คงจะเป็นอีกแบบนึง และคงจะไม่ใช่หนังสือโรแมนซ์แน่ ๆ

นางเอกเล่มนี้เข้มแข็งมาก แต่ถ้าเธอไม่ใช่คนแบบนี้ เราก็ไม่คิดว่า เธอจะสามารถจัดการกับผู้ชายที่ซับซ้อนอย่างเคเลบได้ และแม้แต่ในยามที่เธออ่อนแอ (ทางร่างกาย) สับสนกับสิ่งที่เกิด ซาฮาราไม่เคยเป็นเหยื่อ และที่เราชอบเธอมากที่สุดก็คือจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง เมื่อความจริงทุกอย่างเปิดเผย ว่าอะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นเมื่อเจ็ดปีก่อน เราคาดการณ์เอาไว้นะคะว่า มันจะต้องมาสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ของทั้งสอง จะต้องมีความเข้าใจผิด แต่ไม่เลย เธอต่างหากที่เห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น และเป็นคนพาเคเลบออกมาสู่แสงสว่าง (มากเท่าที่จะเป็นไปได้)

ในแง่นึงเรื่องนี้ทุกอย่างโอเวอร์เกินเหตุนะคะ พระเอกที่เก่งเสียจนไม่มีใครสู้ได้ เรื่องนี้คนอ่านไม่ต้องลุ้นให้ผู้ร้ายเลยนะคะ ยังไงก็สู้ไม่ได้แน่ ๆ รัศมีก็เทียบกันไม่ได้แล้ว (ยิ่งเอาวาสเควซมาเป็นตัวร้ายหลัก ซึ่งเขาเหมือนเป็นใครไม่รู้โผล่มากลางเรื่อง) แต่ละฉากก็ล้วนเน้นให้คนอ่านประจักษ์และทึ่งในความสามารถของเคเลบ การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้าย (แต่ฉากที่ฮ่องกง เราคิดว่า จะดูน่าตื่นตามากกว่านี้ ถ้าเรื่องไม่บอกใบ้ว่า มีแต่เคเลบเท่านั้นที่ทำได้) ทำให้เราทึ่งไป และเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาจึงใช้เป็นโอกาสในการเข้าใกล้การเป็นผู้นำสูงสุดของชาวไซ

ดังนั้นพล็อตของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องพระเอกต่อสู้จนชนะผู้ร้าย หากแต่เป็นการต่อสู้กับตัวเอง เคเลบไม่รู้ว่า เขาจะตัดสินใจยังไงต่ออนาคตของไซเน็ต เพราะมันไม่ใช่การตัดสินใจของเขา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับซาฮารา เรื่องนี้จึงเป็นการเล่าถึงการออกจากความมืด และการหาจุดยืนร่วมกันของเขาและหญิงสาวคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต

เล่มนี้เป็นจุดเปลี่ยนของหนังสือชุดนี้ เหตุการณ์ที่เกิดยิ่งใหญ่และผลกระทบมากมาย แต่ในขณะเดียวกันวิธีการเล่าเรื่องราวของคนแต่ง ก็ไม่ได้ทำให้ความสนใจหักเหไปจากความสัมพันธ์ของตัวละครหลักแม้แต่นิดเดียว (ซึ่งถูกต้องอย่างมาก เมื่อคิดว่า ทุกอย่างที่เคเลบเป็น และต้องการจะเป็น ก็เพียงเพื่อซาฮาราเท่านั้น)

เรื่องนี้ซึ้งและเข้าถึงอารมณ์ของเรามาก อ่านแล้วดึงยึดเราเข้าไปในเรื่อง กระทั่งจบเรื่องก็ยังไม่ปล่อยเราออกมา เป็นหนังสือเรื่องแรกที่ไม่ใช่แค่อ่านจบแล้วอยากกลับไปอ่านใหม่ แต่เป็นเรื่องที่อ่านจบแล้ว ทำให้เรากลับไปอ่านหนังสือทั้งชุดอีกรอบ (หลังจากอ่านทั้งชุดอีกรอบมาแล้วเพื่อเตรียมตัวอ่านเล่มนี้) เพราะเราต้องการอยู่ในโลกของหนังสือเล่มนี้ในนานกว่านี้ ได้มองเห็นเคเลบในยามที่ความมืดล้อมรอบกายของเขา ได้เห็นเขาในยามที่เขาหลงทาง และพยายามตามหาสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และได้เห็นการเดินทางของไปสู่ตอนจบอย่างมีความสุข

ตามข่าวเล่มนี้ไม่ใช่ตอนจบของชุดไซ/เชนจิ้งค์ แม้ด้วยเนื้อเรื่องจะจบลงที่เล่มนี้ก็สมบูรณ์แบบ (แต่เราไม่ต้องการให้จบนะคะ เราอยากเห็นเคเลบ และซาฮาราในรูปแบบบทส่งท้ายในเล่มอื่น เหมือนที่ลูคัส/ซาชา, ฮอร์ค/เซียนนา, และตัวละครในเล่มก่อนหน้าได้รับ เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นกับเขา หลังจากเขาได้ซาฮารากลับมาในชีวิต อยากรู้ถึงปฏิกริยาของคนอื่น ๆ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขาและซาฮาราเปิดเผย

ฉากที่เคเลบเดินทางไปเจรจากับเอเดน ผู้นำกลุ่มแอโรว์ และโชว์ให้เอเดนเห็นว่า เขาและซาฮาราได้พังทลายมาตรการไซเลนซ์ และผูกพันดวงวิญญาณเข้าด้วยกัน สิ่งที่เอเดนคิด ขอบอกว่าฮาอย่างแรง

"...if Kaleb Krychek had been able to bond with another living being... Perhaps salvation could come for even the most broken among them."

คะแนนเต็มร้อย



View all my reviews

Review: Visions of Heat


Visions of Heat
Visions of Heat by Nalini Singh

My rating: 3 of 5 stars



นี่เป็นส่วนหนึ่งของการกลับมาอ่านใหม่อีกรอบเพื่อเตรียมตัวอ่านเรื่อง Heart of Obsidian นะคะ

เริ่มต้นด้วยการเอารีวิวที่เราเขียนไว้สมัยที่อ่านเล่มนี้ครั้งแรกมาแปะ จากนั้นเราจะพูดถึงความรู้สึกหลังจากอ่านเล่มนี้อีกรอบ




ในเล่มสองของชุดเหนือจริงที่เล่าเรื่องราวของชนสามกลุ่ม มนุษย์ ไซ และชาวกลายร่าง ก็เป็นเรื่องความรักระหว่างระหว่างหนุ่มกลายร่าง พันธุ์เสือ กะสายชาวไซที่คราวนี้มีความสามารถพิเศษในเรื่องการทำนายอนาคต

เฟธ ไนท์สตาร์เป็นหนึ่งในคนจำนวนไม่มากนักที่มองเห็นอนาคต แต่ความสามารถของเธอถูกจำกัดไว้เฉพาะในเรื่องการทำนายอนาคตทางด้านธุรกิจเท่านั้น แต่แล้วลางส่อเค้าความล่มสลายของสังคมชาวไซก็มาถึงเมื่อเฟธเริ่มมองเห็นเหตุการณ์การฆาตกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือน้องสาวของเธอ และเฟธรู้ดีกว่า เธอไม่อาจได้คำตอบที่เป็นจริงหากถามคนในเผ่าพันธุ์เดียวกับเธอ เพราะนั่นอาจหมายถึงการที่เธอต้องถูกส่งไปบำบัด (ซึ่งนั่นก็เทียบได้กับการถูกส่งไปโรงพยาบาลบ้า) ทำให้เธอดั้งดนไปพบกับซาซ่า ดันแคนชาวไซอีกคนที่ตัดขาดจากสังคมชาวไซออกไปอยู่กับกลุ่มกลายร่าง (หรือก็คือนางเอกเล่มหนึ่งนั่นเอง) และนั่นทำให้เธอได้พบกับวอห์น หนึ่งในผู้คุมกฎ (แม็กซ์ตั้งชื่อให้เอง เทียบกะหนังจีน) ของเผ่าเสือดำ ที่สอนให้เธอรู้จักความรู้สึก

ในสังคมชาวไซ ความสมบูรณ์แบบคือการไร้ความรู้สึก เพราะความรู้สึกเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรง เป็นอารมณ์ที่ชาวไซไม่อาจควบคุมตัวเองได้ ความเย็นชา และความเงียบคือหนทางออกของชาวไซ ซึ่งในเล่มนี้ก็เริ่มเผยให้เห็นแล้วว่า ความเชื่อนั้นไม่เป็นความจริงเลยสักนิด

และในเล่มนี้อีกเช่นกันที่เผยให้เห็นความแตกแยกของชาวไซ เราเริ่มรับรู้ถึงกลุ่มต่อต้านที่ต้องการล้มล้างระบบความเงียบ การต่อต้านที่เฟธถูกดึงเข้าไปเกี่ยวอย่างไม่รู้ตัว

เล่มนี้มีความเหมือนกะชุดคาร์พาเธียนของคริสตีน ฟีแฮนบ้างเมื่อวอห์นพระเอกออกอาการแวมไพร์ขี้หวง ประเภทมองเห็นหน้านางเอกครั้งแรกก็รู้ว่า นี่คือคู่ของตน แต่ด้วยปลายปากกาของนรินีก็ทำให้ดูไม่น่ารำคาญ และไม่งี่เง่าจนเกินไป แม็กซ์ชอบที่วอห์นไม่ยอมรับว่าเฟธบอบบางหรืออ่อนแอ ซึ่งต่างจากพระเอกโรแมนซ์ทั่วไปที่พบเห็นในเล่มอื่น วอห์นรู้ว่าเฟธเข้มแข็งกว่านั้น และเขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเข้มแข็ง เป็นผู้หญิงที่คู่ควรกับเขา

พล็อตเรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก ซึ่งต่างจากเล่มแรกที่ยังมีพล็อตในส่วนของการฆาตกรรมเข้ามาเกี่ยว แต่ในเล่มนี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งภายในล้วน ๆ เป็นเรื่องการตัดสินใจของเฟธที่ต้องละทิ้งทุกอย่างที่ตนเองรู้จัก เพื่อผู้ชายที่เธอแทบไม่รู้จักเลย

และก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า นลินีมีความสามารถเพียงใดในการเขียนเรื่องที่แตกต่างกันในมุมมองได้ออกมาดีไม่แพ้กัน

คะแนนที่ 75




เช่นเดียวกับการอ่านเล่มแรก (Slave to Sensation) ใหม่อีกรอบ เราไม่อ่านเล่มนี้โดนเน้นไปที่ส่วนของโรแมนซ์ แต่เป็นการจับใจความพล็อตในภาพรวมของชุด

เรารู้สึกถึงความเหมือนกันหลายอย่างระหว่างเล่มนี้กับ Slave to Sensation และนั่นทำให้เล่มนี้ด้อยลงไป ความกดดันในแง่ของความสัมพันธ์ที่อาจจะไปกันไม่รอด เราจับจุดงานเขียนของนลินี ซิงห์ได้ ส่วนที่บีบหัวใจเราที่สุดก็คือ การแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้พระเอกนางเอกจะรักกันมากแค่ไหน แต่บางครั้งความรักอาจจะไม่เพียงพอ ในเล่มแร ซาซ่าจะต้องตัดตัวเองออกจากไซเน็ต ซึ่งหมายความถึงความตายอย่างแน่นอน จุดนั้นสร้างแรงกดดันให้กับเราตอนที่อ่านอย่างยิ่ง แต่พอมาในเล่มนี้ เนื่องจากสถานการณ์ของเฟธไม่ได้แตกต่างออกไปจากซาซ่าเลย เธอคือชาวไซที่มีความสามารถระดับคาร์ดินัล (นั่นคือสูงจนไม่อาจวัดค่าพลังได้) และเธอตกหลุมชาวเชนจิ้งค์ และจะต้องตัดตัวเองออกจากไซเน็ต แต่เนื่องจากคนอ่านอย่างเรารู้แล้วว่า มันมีทางออก เฟธจะรอดตายเพราะมีเครือข่าย Web of Stars อยู่ ทำให้ประเด็นนี้ไม่ได้กดดัน หรือบีบหัวใจให้เราทุ่มอารมณ์ลงไปที่ตัวเอกคู่นี้เท่ากับที่เรารู้สึกกับซาซ่าและลูคัส

แน่นอนว่า มีประเด็นเรื่องการที่เฟธจะต้องโดนตามล่า เพราะบังอาจตีจากไซเน็ต แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ไร้ทางออกโดยสิ้นเชิง เพราะเมื่อพูดถึงการใช้กำลัง เรามั่นใจความสามารถของเผ่าดาร์คริเวอร์ว่าสู้ได้แน่ (มันเป็นเรื่องของการจนหนทางที่จะช่วยอย่างในกรณีของซาซ่า หรือข้ามไปในกรณีของเคทยา จากเรื่อง Blaze of Memory จะชัดเจนที่สุด)

ในแง่ของพล็อตภาพรวมเล่มนี้เปิดเผยครั้งแรกกว่า มีอะไรมากกว่าแค่การที่ซาซ่าถอนตัวออกจากไซเน็ต ในขณะที่เรื่อง Slave to Sensation เป็นการแนะนำให้คนอ่านได้รู้จักโลกในหนังสือชุดนี้ เล่มนี้ได้ขยายโลกให้กว้างขวางออกไป ทำให้คนอ่านรับรู้ถึง พลังบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมด ทำไมชาวไซจึงกลายเป็นนักฆ่า เป็นฆาตกรต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่ซาซ่าและเฟธเท่านั้นที่เริ่มมีความรู้สึก มีขบวนการบางอย่างเกิดขึ้น เราอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนในเล่มนี้ แต่รับรู้แล้วว่า มีบางอย่างมากกว่าที่เห็น

เล่มนี้ยังไม่มีโกสต์ แต่เป็นครั้งแรกที่กล่าวถึงเคเลบ ที่ออกมาแบบกึ่งตัวร้าย และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาติดอยู่ในความทรงจำของเราตั้งแต่อ่านเล่มนี้ การกลับมาอ่านใหม่อีกครั้งทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับเขาที่เราหลงลืมไป บอกตามตรงนะคะ เราคิดว่าเคเลบจะอายุเยอะกว่านี้ (แค่ยี่สิบเจ็ดปีในเล่มนี้ และยี่สิบเก้าปีในเล่มล่าสุด) ประวัติที่อ่านแล้วทำให้ขนลุก แต่ก็น่าทึ่ง ทำให้นึกถึงพระเอกแนวของแอนน์ สจ๊วตหน่อย ๆ ถือว่าเป็นตัวละครที่ทรงพลังมากสำหรับคนที่แทบจะไม่มีบทพูดในเรื่องเลยด้วยซ้ำ

และแน่นอนว่า ยังไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะเป็นฝ่ายคนดีด้วยซ้ำ (แต่ได้ใจของเราไปแล้ว)

ใจความสำคัญอีกอย่างก็คือ เล่มนี้เปิดเผยตัวตนของเน็ตมายด์ สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากไซเน็ต (เสมือนความคิดของชาวไซทั้งหมดก่อตัวขึ้นมา) และที่น่าหวาดกลัวยิ่งกว่า ตัวตนของดาร์คมายด์ ด้านมืดของเน็ตมายด์ที่แยกตัวออกมา เพราะกระบวนการไซเลนซ์ เราชอบวิธีการอธิบายของคนแต่งในจุดนี้มากนะคะ เปรียบเทียบดาร์คมายด์เหมือนเด็กที่เรียกร้องความสนใจ เพราะไซเลนซ์ทำให้ตัวตนของมันหายไป ทางออกเดียวก็คือ สร้างฆาตกรโหดเหี้ยมขึ้น เพื่อให้ตัวตนของมันถูกรับรู้

อ่านใหม่ครั้งนี้กลับกันนะคะ เราชอบเล่มแรกมากกว่าเล่มนี้ แต่ในความหมายที่ว่า เราชอบเล่มนี้ไม่น้อยค่ะ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่า เราไม่ได้โฟกัสการอ่านที่ความเป็นโรแมนซ์เท่าไหรนัก และเล่มนี้ค่อนข้างทุ่มเวลาให้กับความสัมพันธ์ของเฟธและวอห์นมาก

คะแนนที่ 73





View all my reviews

Review: Slave to Sensation


Slave to Sensation
Slave to Sensation by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



ตัดสินใจหยิบหนังสือชุดนี้มาอ่านใหม่อีกรอบทั้งชุดค่ะ เพราะแม้จะเป็นชุดที่เราชอบมากที่สุด และจดจำรายละเอียดได้ค่อนข้างมาก แต่ก็มีความรู้สึกว่า เพื่อให้สมกับความยิ่งใหญ่ที่เรื่อง Heart of Obsidian ออกขาย (เรายังไม่รู้พล็อตหรือเรื่องราวในเล่มนั้นนะคะ แต่พอเข้าใจได้จากที่ได้ยินมาว่า เป็นเล่มที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชุด) ก็เลยอ่านใหม่อีกรอบทั้งชุดเพื่อย้ำเตือนความทรงจำ

แต่เพราะนี่เป็นการอ่านเพื่อเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับชุดโดยรวม เราไม่ได้เน้นไปที่คาแร็คเตอร์ของพระนางเท่าไหรนัก หากแต่มุ่งความสนใจไปที่พล็อตรวมของชุด นั่นก็คือประเด็นความล้มเหลวของ Silence ที่มีผลต่อชาวไซทั้งปวง

ก่อนอื่นนี่เป็นรีวิวที่เราเขียนไว้เมื่อราวหกปีก่อน ตอนที่เราอ่านเล่มนี้เป็นครั้งแรก (ความเห็นของเราหลังจากกลับมาอ่านอีกรอบอยู่ตอนท้ายค่ะ)



ในโลกของชุดนี้ โลกมนุษย์ของเราถูกแบ่งออกเป็นสามชนเผ่า ชาวไซที่มีพลังจิต และสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านไซเน็ต คอนเซ็ปต์คล้ายกับอินเตอร์เน็ตนี่แหละ แต่เป็นการเชื่อมต่อกันทางจิต ว่ากันว่าไซที่ตัดขาดออกจากไซเน็ตก็จะต้องตาย เพราะไม่ได้รับสัญญาณตอบสนองกลับจากจิตคนอื่น นอกจากไซแล้ว ยังมีพวกมนุษย์กลายร่าง ซึ่งก็คล้ายกับมนุษย์หมาป่า เพียงแต่มีมากชนิดกว่า กลุ่มนี้จะแยกกันอยู่เป็นกลุ่มเผ่า ดูเหมือนว่าจะแยกออกจากกัน ทำให้พวกไซมองว่าพวกนี้ป่าเถื่อน ไม่น่ากลัว แล้วกลุ่มสุดท้ายก็คือมนุษย์ธรรมดา ซึ่งอ่านถึงเล่มสามแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่ามีบทบาทอะไร แต่คงจะเปลี่ยนไปเพราะนางเอกเล่มสี่คือมนุษย์

ในเล่มนี้นางเอกซาซ่า ดันแคนเป็นไซที่มีพลังในระดับคาร์ดินัล หรือพลังสูงสุดในหมู่ไซด้วยกัน ปัญหาก็คือ เธอกลับไม่แสดงออกว่ามีความถนัดในด้านใดเป็นพิเศษ ทำให้เธอไม่มีวันที่ก้าวสู่จุดสูงสุดของการเป็นสภาผู้ปกครองชาวไซ ดั่งเช่นที่แม่เธอเป็นได้

ซาซ่าได้รับภารกิจจากแม่ของเธอให้ติดต่อธุรกิจกับลูคัส หัวหน้าเผ่าเสือดาวในโครงการร่วมสร้างบ้านเพื่อขายให้กับชาวกลายร่าง แต่ที่ลูคัสต้องการไม่ใช่ผลกำไร หากแต่เป็นการสืบข่าวจากเธอเพื่อหาความจริงที่เกิดขึ้นในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงสาวชาวกลายร่าง เขาสงสัยว่าคนร้ายจะต้องเป็นหนึ่งในสภาผู้ปกครองไซ

ในขณะเดียวกันซาซ่าก็กำลังถึงทางตัน เพราะเธอเป็นไซที่บกพร่อง เธอมีความรู้สึกซึ่งเป็นของต้องห้ามในโลกของเธอ และการได้พบกับลูคัส เธอก็รู้ว่าเวลาของเธอกำลังจะหมดลง

แม็กซ์ชอบจินตนาการของคนแต่งค่ะ เธอสร้างโลกได้มีความชัดเจน เห็นภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ยัดเยียดข้อมูลให้มากจนเกินไป ในแต่ละเล่มที่อ่าน คุณจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกในเรื่องมากขึ้น แม็กซ์ชอบที่เธอไม่ทำให้แม็กซ์หงุดหงิดประเภทเอาความลับมาล่อ แล้วก็เก็บไว้ไม่อธิบายจนกระทั่งเล่มที่สิบห้า ในหนังสือชุดนี้ทุกอย่างค่อย ๆ เปิดเผยโดยไม่ขัดกับเนื้อเรื่อง

ชาวไซทุกคนจะถูกส่งบำบัดตั้งแต่เด็กเพื่อไม่ให้มีความรู้สึกเนื่องจากเมื่อราวหนึ่งร้อยปีก่อน มีการวิจัยออกมาพบว่า วิธีนี้เป็นทางเดียวที่จะช่วยหยุดยั้งความรุนแรงในหมู่ไซได้ เพราะชาวไซเป็นกลุ่มที่มีฆาตกรโรคจิต และต่อเนื่องมากที่สุดในมนุษยชาติ แต่การบำบัดกลับทำให้ชาวไซสูญเสียความสามารถทางด้านศิลปะไป พวกเขาไม่รู้รับถึงความงดงาม ไร้ความรู้สึก และเย็นชา

แต่ในเล่มนี้เราได้รับการเปิดเผยว่า โลกของไซไม่ใช่อย่างที่ทุกคนคาดคิด สภาของชาวไซเองปกปิดความลับไว้มากมาย รวมทั้งฆาตกรต่อเนื่องชาวไซ ที่ทุกคนคิดว่าสูญพันธุ์ไปหมดแล้วจากการบำบัด ในเล่มนี้เราเริ่มรับรู้ถึงความบกพร่องของวิธีการบำบัด

และเราได้รับรู้ว่าซาซ่าไม่ได้บกพร่อง หากแต่เธอกลับเป็นไซที่มีความสามารถที่ไม่เป็นที่ต้องการในสังคมไซภายหลังการบำบัด

และสุดท้ายเราก็ได้รับรู้ว่า การตัดขาดจากไซเน็ตเป็นสิ่งที่ทำได้

คะแนนที่ 70



และนี่คือความคิดของเราหลังจากกลับมาอ่านอีกรอบ

เรารู้สึกเสมือนมาว่า เล่มนี้คือหนึ่งในเล่มที่เราชอบน้อยที่สุดในชุด ไม่ใช่ว่าไม่ชอบ หรือไม่สนุกนะคะ แต่เมื่อเทียบกับความชอบอย่างใหญ่หลวงที่เรามีให้กับหนังสือของนลินี ซิงห์แล้ว เล่มนี้แทบจะไม่เคยถูกเราพูดถึง นอกจากนี้เรายังบอกกับทุกคนเสมอมาว่า เล่มที่ทำให้เรากลายเป็นสาวกของชุดนี้ได้ก็คือเล่มสามในชุด Caressed by Ice นั่นก็พอจะบอกความรู้สึกของเราต่อชุดนี้ได้

แต่การกลับมาอ่านอีกครั้ง คราวนี้พร้อมกับความรู้เกี่ยวกับโลกที่ตัวละครอาศัยอยู่ เรากลับพบว่า เรื่องนี้สนุกกว่าที่จำได้ และด้วยความรู้ที่เรามี (เพราะได้อ่านเล่มหลังจากเล่มนี้ไปแล้ว) ทำให้เรามีมุมมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเล่มนี้แตกต่างไปจากเดิม

โดยเฉพาะในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างซาซ่าและนิกิต้า (สปอยล์สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านเล่มหลัง ๆ) เรามองความสัมพันธ์นั้นด้วยสายตาใหม่หมด จากที่เคยคิดว่า นิกิต้าเป็นหนึ่งใน "แม่ของนางเอก" ที่ร้ายกาจ แม้เราจะไม่ได้คิดว่า เธอจะร้ายอย่างที่เล่มนี้บรรยาย เรานึกเสมอว่า มีความรู้สึกบางอย่างซ่อนอยู่ แต่หลังจากอ่านเรื่อง Bonds of Justice จบไปแล้ว ความคิดที่เรามีต่อนิกิต้าก็เปลี่ยนใหม่หมด และทำให้เราอ่านเล่มนี้ด้วยสายตาที่อ่อนโยนต่อเธอมากขึ้น เราคิดว่า ตัวเองเข้าใจแล้วว่า อะไรผลักดันให้นิกิต้าเข้มงวดกับซาซ่าอย่างยิ่งในการรักษาความเย็นชาของตัวเองเอาไว้

นอกจากนี้เราคิดว่า ลูคัสเท่ห์กว่าที่จำได้ และทำให้เรายอมรับความเป็นผู้นำที่เขามีต่อเผ่าดาร์คริเวอร์มากขึ้น ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่า การที่คนในเผ่ายอมรับเขา เพราะเขาเป็นจ่าฝูง แต่พออ่านเล่มนี้อีกครั้ง เหมือนมันตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของเขา ที่พิสูจน์ตัวเองด้วยเลือด ถึงความเป็นผู้นำ และทำไมทุกคนจึงยกย่องเขา

เราสรุปความรู้สึกของตัวเองนะคะ เราคิดว่า ที่ตอนอ่านครั้งแรกแล้วรู้สึกครึ่ง ๆ กลาง ๆ กับชุดนี้ (คือคิดว่า เป็นชุดที่สนุกน่าสนใจ แต่ยังไม่โดนใจเต็มที่) เพราะเล่มนี้คือเล่มแรกในชุด พล็อตเรื่อง แนวคิดเบื้องหลังรวมไปถึงโลกที่ถูกสร้างขึ้นในเล่มนี้เป็นสิ่งใหม่ต่อคนอ่านทั้งหมด และเราตั้งใจเวลาในการทำความเข้าใจ ในการเข้าถึง การกลับมาอ่านใหม่ เป็นการอ่านผ่านสายตาของนักอ่านที่รู้จักองค์ประกอบในเล่มนี้ดีอยู่แล้ว (และที่มากกว่านั้น เรารู้มากกว่าที่ตัวละครในเล่มนี้ ณ เวลาในเล่มนี้ รู้เสียอีก ทำให้เราจับจุดได้ว่าควรจะให้ความสนใจกับองค์ประกอบอะไรในเรื่องบ้าง)

ดังนั้นแม้เล่มนี้จะไม่มีเคเล็บ ไม่มีโกสต์ ก็เป็นเล่มที่อ่านซ้ำแล้วสนุกมาก และทำให้เรามองเห็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในชุด และคิดว่า คนแต่งวางแผนล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี

คะแนนเพิ่มขึ้นจากเดิมค่ะ ที่ 77



View all my reviews

Review: Mine to Possess


Mine to Possess
Mine to Possess by Nalini Singh

My rating: 3 of 5 stars



นี่เป็นการเขียนรีวิวซ้ำ หลังจากกลับมาอ่านเล่มนี้อีกครั้ง จึงมีรีวิวสองอันนะคะ

อันแรกคือสิ่งที่เราคิด และเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เราอ่านเรื่องนี้ครั้งแรก



Mine to Possess ที่เป็นเล่มแรกที่จับคู่ระหว่างชาร์เลนจิ้งและมนุษย์ธรรมดาสามัญ (ซึ่งไม่สามัญเท่าไหรหรอกนะ) เรื่องของเคลย์และหญิงสาวที่รักมาตลอดชีวิต

ครั้งแรกที่เทลลี่พบกับเคลย์ (แบบเผชิญหน้ากัน) เธออายุสามขวบ ส่วนเขาเก้าขวบ เคลย์ขาหัก เทลลี่ซึ่งเป็นเด็กที่หวาดกลัวโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล และจับมือเขาให้กำลังใจขณะรอ นับจากนั้นเคลย์เป็นผู้พิทักษ์ของเทลลี่ แต่เขาก็ไม่สามารถคุ้มครองเธอจากความโหดร้ายของพ่อบุญธรรมของเธอได้ โดยที่เคลย์ไม่รู้เทลลี่โดยทารุณกรรมสารพัดรูปแบบจากพ่อและแม่บุญธรรม และเมื่อเขารู้ ด้วยวัยสิบสี่ปี เคลย์หักห้ามความโกรธไม่ได้ และฆ่าคนเป็นครั้งแรก

นั่นทำให้มิตรภาพหยุดลง

แม็กซ์ไม่ได้บอกว่าชอบเทลลี่เพราะความเข้มแข็งของเธอ แต่แม็กซ์รู้สึกว่าตัวเองเข้าใจการกระทำของเธอนะ เทลลี่อายุเพียงแค่แปดปีตอนที่ทุกอย่างในชีวิตของเธอจบสิ้นลง เธอสูญเสียความมั่นคงในชีวิต เสียเคลย์ให้กับกฎหมาย และต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ เธออาจไม่ใช่นางเอกที่เข้มแข็งที่สุด แต่แม็กซ์เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเทลลี่ถึงหลอกเคลย์ว่าตัวเองตายแล้ว เพื่อเริ่มต้นชีวิตโดยที่ไม่มีเขา ไม่ใช่ว่าแม็กซ์ชอบ แต่แม็กซ์เข้าใจ เธอเป็นเพียงแค่เด็กที่มีความคิดอ่านแบบเด็ก และเมื่อเวลาผ่านไป มันก็สายเกินกว่าจะย้อนกลับไปแก้ไขอดีตแล้ว

ยี่สิบปีผ่านไปเทลลี่เดินกลับเข้ามาในชีวิตของเคลย์อีกครั้ง คราวนี้เธอต้องการให้เขาช่วยเหลือในการตามหาเด็กในความดูแลของเธอที่หายตัวไป แต่สำหรับเคลย์แล้วการได้รู้ว่าเทลลี่ยังมีชีวิตอยู่ และเลือกที่จะหลอกลวงเขาว่าเธอตายไปแล้ว เป็นความเจ็บปวดที่ยากจะทนได้

เล่มนี้แม็กซ์ว่ามีพล็อตที่น่าติดตามอ่านมากที่สุดค่ะ แม้ว่าตัวละครจะไม่ถูกใจ (แต่ก็ยากจะหาใครที่เทียบจัดด์ได้นะ) นัก เทลลี่มีประสบการณ์เลวร้ายในอดีตซึ่งติดตามเธอมาในปัจจุบันมากเกินไป ส่วนเคลย์ก็เป็นตัวละครที่แม็กซ์รู้สึกเหมือนไม่รู้จักดี (ฉากที่เขาออกในเล่มก่อนหน้า ก็ไม่ได้ทำให้แม็กซ์สนใจอะไร) นอกจากว่าเขารักเทลลี่ยิ่งกว่าอื่นใด (และนั่นถือเป็นข้อดีนะ)

พล็อตหลักของเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ถูกลืม หรือชาวไซที่ปฏิเสธการบำบัดเพื่อควบคุมอารมณ์ ชาวไซเหล่านี้ปะปนอยู่กะมนุษย์ จนกลายเป็นคนธรรมดาสามัญที่อาจจะมีความสามารถพิเศษนิดหน่อย และพวกเขากำลังถูกล่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทดลอง

ชอบเรื่องนี้นะคะ โดยเฉพาะที่พล็อตที่น่าติดตามอ่านมาก คะแนนที่ 73



และนี่คือสิ่งที่เราคิดหลังจากอ่านจบอีกครั้ง

เรามีปัญหากับนางเอกอย่างมากในช่วงต้นเรื่อง มากเสียจนเราทบทวนความรู้สึกตัวเอง เพราะแม้เล่มนี้จะไม่ใช่เล่มที่เราชอบมากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่เล่มที่เราจดจำได้ว่า เป็นเล่มที่มีปัญหา ความไม่ชอบนางเอกอย่างรุนแรงในตอนช่วงต้นเรื่อง ทำให้เราคิดไปถึงขนาดว่า เธอช่างไม่คู่ควรกับเคลย์เอาเสียเลย

แต่เมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ความรู้สึกนี้ค่อย ๆ ลดลงนะคะ เลยทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ว่า ตอนที่อ่านเมื่อหลายปีก่อนก็คงจะคิดแบบนี้เหมือนกัน นั่นก็คือ เมื่อเราได้รู้จักตัวละครดีขึ้น และเข้าใจเหตุผล โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ทำไมทัลลีถึงได้ทิ้งเคลย์ไป ทั้งที่เขาทำทุกอย่างเพื่อเธอ ก็ทำให้เรายอมรับเธอได้ในที่สุด มันอาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เธอเป็นนางเอกคนโปรดของเรา แต่ก็ไม่ได้ถึงกับทำให้เธอเป็นส่วนเสียหายของเนื้อเรื่อง

เล่มนี้เปิดโลกในชุดให้กว้างมากขึ้น หลังจากรับรู้แล้ว่า โลกของเราประกอบด้วยสามเผ่าพันธุ์ ไซ, เชนจิงค์, และมนุษย์ คำถามก็เกิดขึ้น เมื่อชาวไซประกาศใช้นโยบายไซเลนซ์ บังคับชาวไซทุกคนให้ตัดขาดจากความรู้สึก และเข้าสู่ความเงียบ แล้วสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยล่ะ หรือคนที่เป็นลูกครึ่งชาวไซ คนที่แต่งงานเข้าไปกับมนุษย์ และเชนจิงค์ล่ะ พวกเขาทำอย่างไร คำตอบอยู่ในเล่มนี้ และยังเป็นการแนะนำกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า The Forgotten ผู้ที่ถูกลืม (หรือผู้ที่สภาชาวไซต้องการให้ลืม)

และเนื่องจากพระนางของเล่มนี้ไม่ได้โดนใจเรามากพอ การกลับมาอ่านใหม่ เราพบว่าตัวเองไม่ค่อยสนใจพวกเขามากนัก เรื่องราวความรักของทั้งคู่ก็ยังถือว่า สนุกนะคะ ความรักความผูกพันที่เคลย์และทัลลีมีให้กันตั้งแต่ตอนเด็ก หลังจากหลายปีมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง ความรักนั้นก็ยังคงอยู่ครบ เล่มนี้เป็นอีกครั้งที่เราพล็อต ความรักอาจจะไม่เพียงพอมาใช้ เมื่อเริ่มต้นเรื่องด้วยการบอกว่า ทัลลีป่วยเป็นโรคประหลาดที่อาจจะคร่าชีวิตของเธอได้ แต่เราอ่านออกตั้งแต่ตอนต้น และเดาถูกเกี่ยวกับสาเหตุอาการป่วยของเธอ ทำให้เวลาอ่าน อารมณ์ไม่ค่อยร่วมไปกับความซาบซึ้งเท่าไหรนัก ประเด็นเรียกน้ำตานี้ ก็เลยบีบน้ำตาเราไม่ออก (แต่เรื่องชุดนี้ขอบอกว่า อ่านแล้วร้องไห้เยอะมาก ซึ้งและอินกับเรื่องน่ะค่ะ)

อย่างไรก็ตามเล่มนี้ให้เบาะแสสำคัญหลายอย่าง รวมทั้งเปิดตัวละครหลายตัวที่จะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของชุดนี้ในเวลาต่อมา

เดฟ (เทวราช) กลายเป็นหัวหน้าของกลุ่ม The Forgotten ก็ในเล่มนี้ อ่านใหม่ครั้งนี้เราแปลกใจในความรับรู้ของตัวเองค่ะ คือเรารู้สึกตอนที่อ่าน Blaze of Memory ครั้งแรกว่า คาแร็คเตอร์ของเดฟในเล่มนั้น ไม่เหมือนกับตัวตนของเขาที่เราจำได้ตอนอ่านเล่มนี้ (ครั้งแรก) เลย แต่ปรากฎว่า อ่านใหม่คราวนี้ เขาคือผู้ชายคนเดียวกับที่เราเจอใน Blaze of Memory เลยนะคะ ซึ่งนั่นแสดงว่า ความทรงจำที่เรามีเกี่ยวกับเล่มนี้ตอนอ่านครั้งก่อนผิดพลาดร้ายแรง

แม็กซ์ นายตำรวจชาวมนุษย์ก็ปรากฎตัวในเล่มนี้ครั้งแรก ยอมรับค่ะว่า จำเรื่องราวของเขาในเล่มนี้แทบไม่ได้เลย

และนี่ก็เป็นเล่มแรกที่วาสิกออกมามีบทบาท แม้เราจะต้องยอมรับว่า จำเขาไม่ได้เลยสักนิดเดียวตอนที่อ่านครั้งแรก แต่เนื่องจากอ่านเล่นด้วยสายตาแบบจ้องจับผิด (คือเก็บรายละเอียดทุกอย่าง) ก็เลยเจอ แปลกใจเล็ก ๆ ว่า เขามีบทเร็วตั้งแต่เล่มนี้เลยเชียวเหรอ

เล่มนี้ไม่ค่อยมีฉากเกี่ยวกับโกสต์มากนัก เพราะเรื่องมีโฟกัสอยู่ที่กลุ่มผู้ถูกลืม และเชนจิ้งค์มากกว่า แต่เหตุการณ์สำคัญก็ได้เกิดขึ้นในเล่มนี้ เมื่อโกสต์ได้ลอบสังหารมาร์แชล สมาชิกสภาชาวไซ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด ซึ่งดูเหมือนว่า ความตายของเขาจะกลายเป็นประโยชน์ให้กับเคเลบในการขึ้นสู่อำนาจเพื่อควบคุมสภา

คะแนนเล่มนี้ 73 (เท่าเดิมค่ะ)



View all my reviews

Review: Hostage to Pleasure


Hostage to Pleasure
Hostage to Pleasure by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



นี่เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ของการอ่านซ้ำค่ะ ดังนั้นรีวิวแบ่งออกเป็นสองช่วงนะคะ อันแรกก็คือรีวิวที่เราเขียนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ซึ่งความเห็นอาจจะเหมือน หรือต่างจากสิ่งที่เราคิดหลังจากนำกลับมาอ่านอีกรอบก็ได้ค่ะ (ส่วนใหญ่จะเหมือนกัน)


หนังสือเล่มที่ห้าในชุด Psy & Changeling ที่ยิ่งเขียนก็ยิ่งน่าติดตาม พรสวรรค์ของนรินี ซิงค์ก็คือการเขียนโดยไม่ปล่อยข้อมูลออกมามากหรือน้อยเกินไป มันพอเหมาะพอเจาะกับความต้องการของเนื้อเรื่อง ไม่ทำให้เกิดอาการงุนงง (อย่างงานชุด Warriors of Poseidon ของอลิสา เดย์) หงุดหงิด (อย่างชุดดาร์คฮันเตอร์ของเชอริลีน เคนย่อน) หรือลงแดงด้วยอาการอยากรู้ (อย่างชุด BDB ของเจอาร์ วาร์ด)

โลกที่นรินีสร้างในชุดนี้กว้างใหญ่ หาติดตาม และสร้างสรรที่สุดในบรรดาหนังสือชุดแนวพารานอมอลที่แม็กซ์เคยได้อ่านมา เรื่องราวของโลกมนุษย์ที่ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม พวกไซ กลุ่มมนุษย์ที่มีความสามารถทางพลังจิต พวกชาร์เลนจิ้ง หรือคนที่มีวิญญาณร่วมกับสัตว์ และแปลงร่างเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้ และสุดท้ายก็คือ มนุษย์ธรรมดาสามัญ

ในปี 2080 ชนทั้งสามกลุ่มใช้ชีวิตแยกจากกัน ชาวไซลุ่มหลงใน "ความเงียบ" พวกเขาเข้าร่วมลัทธิความเงียบอันนี้นับตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพราะต้องการกำจัดคนที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มพวกเขา เพราะมันถูกพิสูจน์มาแล้วว่า เหล่าฆาตกรอำมหิตโรคจิตส่วนใหญ่ก็คือชาวไซ ผู้ซึ่งไม่สามารถควบคุมความสามารถพิเศษที่ตัวเองมีได้ ผู้บุกเบิกได้นำลัทธิ "ความเงียบ" เข้ามาแนะนำ และมันกลายเป็นทางออกสำหรับสังคมชาวไซที่ยุ่งเหยิง แต่การได้มาซึ่ง "ความเงียบ" ชาวไซสูญเสียความรู้สึก และอารมณ์ทุกชนิดไป พวกเขากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่แตกต่างสิ่งของ ไม่มีอีกแล้วซึ่งงานศิลปะ เสียงเพลง ทุกอย่างเป็นไปตามธุรกิจ เงินตราเป็นสิ่งที่ชาวไซเข้าใจ

แต่ภายใต้ "ความเงียบ" ที่ครอบงำชาวไซทุกคน การปฏิวัติอย่างเงียบ ๆ ได้เกิดขึ้น ระบบที่ดำรงพวกเขาอยู่ในความเงียบ กำลังพังทลายลงอย่างช้า ๆ ชาวไซเริ่มรับรู้ถึงผลเสียของความเงียบที่ปิดกั้นความรู้สึกของพวกเขา ในขณะเดียวกันสภาผู้ปกครองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาอำนาจของพวกเขา และจำกัดชาวไซให้คงอยู่ใน "ความเงียบ" ต่อไป

แม็กซ์อ่านหนังสือชุดนี้เรียงกันตั้งแต่เล่มหนึ่งนะคะ ก็เลยไม่แน่ใจว่า ถ้ามาเริ่มอ่านที่เล่มนี้เลยจะรู้เรื่องกันไหม แต่ก็บอกตามตรงนะคะ หนังสือชุดนี้ควรจะอ่านตั้งแต่เล่มแรก เพราะคุณจะชื่นชมกับความสามารถของนรินี ซิงค์ได้อย่างเต็มที่ วิธีการเล่าเรื่องของเธอเหนือกว่านักเขียนหลายคนที่แม็กซ์ยกย่องว่าเก่งด้วยซ้ำ

เรื่องราวในเล่มนี้ต่อเชื่อมกับเล่มก่อนหน้าอย่าง Mine to Possess พอสมควร โดยเฉพาะมันสปอยล์ตอนจบของเล่มนั้นด้วยนะ ดังนั้นคนที่ยังไม่เคยอ่าน MTP ก็ถือว่าแม็กซ์เตือนแล้วนะคะ

อชายา เอลีนเป็นนักวิทยาศาตร์ผู้ปราดเปลื่องชาวไซ เธอเป็นความหวังเดียวของสภาผู้ปกครองชาวไซในการรักษาฐานอำนาจของพวกเขาให้คงอยู่ ด้วยแผนการสร้างชิปที่จะครอบงำจิตใจชาวไซทุกคนให้คิดเหมือนกัน และถูกปกครองโดยสภาซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด แต่อชายาไม่เคยสนับสนุนความคิดนี้ ทว่าเธอไม่มีทางเลือก เพราะ คีแนน ลูกชายของเธอโดนจับเป็นตัวประกัน

ความหวังของอชายามาพร้อมกับสัญญาที่พวกชาร์เลนจิ้งสัญญาไว้ในตอนจบของ MTP และก็เป็นหน้าที่ของดอเรียนในการช่วยเหลือคีแนนออกมาจากเงื้อมือของสภา ภารกิจที่เขาทำสำเร็จโดยไม่ยาก สิ่งที่เขาไม่คิดก็คือ เขาไม่อาจสลัดภาพของอชายาไปจากใจได้

เมื่อหลายเดือนก่อน (เหตุการณ์ในเรื่อง MTP) ดอเรียนเล็งปืนไปที่อชายา พร้อมจะปลิดชีวิตของเธอ ถ้าเธอทำผิดคำสัญญาที่ให้ไว้กับชาร์เลนจิ้ง และเขาไม่เคยลืมใบหน้าของเธอนับจากนั้น ดังนั้นเมื่ออชายาสามารถหนีรอดออกมาจากห้องทดลองที่เปรียบเสมือนห้องขังของเธอ ดอเรียนก็กลายเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเธอในทันที

และสำหรับชายที่สูญเสียน้องสาวผู้เป็นที่รักให้กับฆาตกรโรคจิตชาวไซ (เหตุการณ์ในเล่มแรก Slave to sensation) การมอบใจให้กับชนกลุ่มเดียวกับคนที่ฆ่าน้องสาวเป็นสิ่งที่เขาแทบไม่อาจทำใจยอมรับได้ แต่ความเป็นเสือดาวในกายเขายอมรับอชายา แม้ความเป็นมนุษย์จะสับสนในความรู้สึกของตัวเองอยู่

อชายาเองก็เต็มไปด้วยความลับ ความลับที่มากยิ่งกว่าการทดลองลับที่เธอถูกสภาบังคับให้ทำ ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างเธอและดอเรียนยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อเธอบอกเขาว่า หนึ่งในความผิดที่เธอทำก็คือการปกป้องคนที่เลวร้ายในหมู่ชาวไซ (และฆาตกรที่ฆ่าน้องสาวของดอเรียนก็เป็นคนกลุ่มนั้น) แม้ว่าคนคนนั้นก็คือคู่แฝดของเธอเอง

พล็อตในเล่มนี้เป็นการหักเหลี่ยมกันระหว่างอชายา และสภาที่ตามล่าเธอ เพื่อปกป้องชีวิตของทุกคนที่เธอรับ อชายาเอาตัวเองเป็นเป้า เธอเปิดเผยต่อสังคมโดยรวมถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากสภา ความเลวร้ายของโครงการนั้น แต่นั่นกลับเป็นการทำให้เธอตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มสมาคมลับที่เพิ่งเปิดตัวในเล่มนี้

ในแง่ของการสร้างโลกในเรื่อง แม็กซ์คิดว่า เล่มนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติมมากนัก (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ MTP) แต่เป็นการเล่นในแง่ความรู้สึกของตัวละครมากกว่า ความสับสนของดอเรียน ทางเลือกของอชายาที่ต้องเลือกระหว่างดอเรียน, ลูกชายของเธอ, และคู่แฝดของเธอเอง

เล่มนี้ดีกว่าที่คิดมากค่ะ คะแนนที่ 80



และนี่คือความคิดของเรา หลังจากนำกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ

เราไม่คาดหวังว่า ตัวเองจะชอบอชายานะคะ เธอเป็นนางเอกคนแรกในชุดที่ถือว่า มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในเล่มก่อนหน้า และตัวตนของเธอที่แสดงออกมาในเรื่อง Mine to Possess ก็ทำให้เราไม่แน่ใจว่า เธอคือนางเอกที่คู่ควรกับดอเรียน แม้ว่าในเล่มนั้น เรื่องจะแสดงอย่างชัดเจนว่า เธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการลักพาตัวเด็ก ๆ มาทรมาน แต่ตัวตนที่แสดงออกในเล่มนั้น ความเย็นชาอย่างชาวไซของเธอ ทำให้เราไม่ชอบเธอมากนัก

แต่ก็เหมือนกับหลายครั้งที่เรารู้สึกไปก่อนล่วงหน้า เรายอมจำนนต่อเรื่องราวที่นลินี ซิงห์เขียนค่ะ เราพบว่า เมื่อได้รู้จัก และเห็นความคิดของเธอมากขึ้น เข้าใจในสถานการณ์ที่เธอประสบ และความเสี่ยงมากมายที่เธอต้องยอมรับเอาไว้ เราใจอ่อนให้เธอในที่สุดค่ะ

นอกจากนี้เล่มนี้ยังทำให้ผิดคาดนะคะ เพราะทุกเล่มก่อนหน้า ตัวร้ายใหญ่ก็คือสภาชาวไซ ที่มีเหตุจะต้องงัดข้อกับกลุ่มเชนจิงค์อยู่ตลอด มาในเล่มนี้ แม้ว่าอชายาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานให้สภา และหลบหนีออกมาพึ่งพาชาวเชนจิ้งค์ ตัวร้ายแท้จริงกลับกลายเป็นกลุ่มกองกำลังมนุษย์ ที่คิดจะใช้อชายาเป็นเบี้ยในการตอบโต้ชาวไซที่กดขี่พวกเขา

เราชอบความคลุมเครือของเนื้อเรื่อง เพราะหากจะให้โทษกลุ่มมนุษย์ว่า เป็นคนเลว และชั่วร้ายก็ไม่ถูกต้องนัก เมื่อคิดถึงสิ่งที่พวกเขาโดนกระทำโดยชาวไซ (ยิ่งถ้าอ่านเรื่อง Tangled of Need ประเด็นนี้จะยิ่งชัดเจน) แต่วิธีการของพวกเขาไม่ถูกต้องทั้งหมด การหลอกใช้สมาชิกผู้ภักดีขององค์กร และมนุษย์ด้วยกันเป็นเบี้ย ทำให้พวกเขากลายเป็นตัวร้ายในที่สุด

เราชอบคาแร็คเตอร์ของอมารา นั่นทำให้เรากลายเป็นคนที่น่ากลัวไปรึเปล่า ก็ไม่รู้นะคะ เหตุผลใหญ่ที่เรารู้สึกสื่อถึงตัวตนของเธอ อาจจะเป็นเพราะว่า ในแง่หนึ่งในใจของเรา เราเปลี่ยนเทียบคาแร็คเตอร์ของอมารากับเคเลบ เรารู้สึกเหมือนเห็นบางสิ่งที่คล้ายคลึงกันของทั้งสองคน อย่างไรก็ตาม เล่มนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เธอไม่น่าจะกลายเป็นตัวเอกที่ดำเนินเรื่องได้ ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมที่ต่ำเกินไป แต่เรายังไม่ได้คิดเช่นนั้นกับคาแร็คเตอร์ของเคเลบนะคะ

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างนึงในเล่มนี้เกี่ยวกับสภาชาวไซ เมื่อเฮนรีได้ทำความรู้จักกับกลุ่มเพียวไซ (ซึ่งเราไม่คิดเอาเสียเลยนะคะว่า เจ้ากลุ่มนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ในชุดนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เจ้าพาสเวิร์ดที่เฮนรีใช้ F_GALTON1882 มีความหมายอะไรเป็นพิเศษไหม) และเขาขึ้นเป็นผู้นำเหนือชอร์ชานา ในความสัมพันธ์เพื่อผลประโยชน์ของทั้งคู่

และก็เหมือนกับรายละเอียดหลาย ๆ อย่างที่เราจับความสำคัญไม่ได้ตั้งแต่ตอนอ่านครั้งแรก เราไม่เคยคิดนะคะว่าเอแคทรินา ผู้ชายของอชายาจะกลายเป็นคาแร็คเตอร์สำคัญในเวลาต่อมาในชุด ซึ่งนั่นรวมไปถึงว่า เล่มนี้เป็นครั้งแรกที่เอเดนออกมามีบทบาท แต่เราให้อภัยตัวเองนะคะ ที่จำเขาไม่ได้ ก็เรื่องไม่ได้บอกชื่อให้ด้วยนี่นา แต่การกลับมาอ่านอีกครั้ง หลังจากที่เราได้รู้จักเอเดน (และรู้ถึงความสำคัญที่เขามีต่อหน่วยแอโรว์) ก็เป็นเล่มนี้แหละที่เปิดเผยความสามารถพิเศษที่ซ่อนเอาไว้ของเขา

เล่มนี้ถูกใจเราเพราะนำเสนอความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในโลกของเรื่องในชุด ไม่ได้แค่จำกัดอยู่ที่ชาวไซ และเชนจิ้งค์ แต่ตัวแปรสำคัญคือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของเหล่ามนุษย์ได้เข้ามามีบทบาทแล้ว

คะแนนยังเท่ากับตอนที่รีวิวครั้งแรกค่ะ




View all my reviews

Review: Kiss of Snow


Kiss of Snow
Kiss of Snow by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



เราเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้คลั่งไคล้การจับคู่ระหว่างฮอร์คและเซียนนาเท่าไหรเลยนะคะ เรารู้สึกว่า มันง่ายเกินไป แล้วเรามองไม่เห็นความน่าสนใจของทั้งคู่ ส่วนหนึ่งเพราะเราคิดเสมอว่า เซียนนาเด็กเกินไป

เรายังยืนยันแบบนั้นนะคะ โดยเฉพาะในช่วงสี่ห้าเล่มแรกในชุด พฤติกรรมที่เธอแสดงออก แม้จะมีเหตุผล (เธอออกจากไซเน็ต จากความเงียบมาสู่ความรู้สึกฉับพลันทันที และเธออายุยังน้อย) เราก็รู้สึกว่า เธอเป็นผู้ใหญ่ไม่พอที่จะรับมือกับฮอร์ค และนี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่นลินี ซิงห์เขียนให้เซียนนาต้องออกจากเผ่าสโนว์แดนเซอร์ ย้ายไปอยู่กับดาร์คริเวอร์เพื่อเตรียมตัวรับมือกับความสามารถพิเศษอันร้ายกาจของตัวเองกับซาช่า (นางเอกเล่มแรก Slave to Sensation) ในเรื่อง Play of Passion เธอกลับมา และเราพบว่า เธอมีความน่าสนใจ และโตพอแล้ว

อย่างไรก็ตามเราก็กลัวเล็ก ๆ นะคะว่า คนแต่งจะเขียนความรักระหว่างผู้ชายวัยสามสิบกว่า กับเด็กสาววัยสิบแปดยังไงให้มันออกมาลงตัว ไม่ดูเป็นเฒ่าหัวงู (เรามีปัญหากับพล็อตที่พระเอกอายุมากกว่านางเอกเยอะ ๆ เสมอ) แต่นลินี ซิงห์ก็พิสูจน์ว่าเธอทำได้ และทำได้ดีมาก ๆ ด้วย

นี่ไม่ได้เกี่ยวกับว่า เธอไม่ได้บอกอายุของฮอร์คไว้ในเรื่องหรอกนะคะ แต่การเล่าเรื่อง คาแร็คเตอร์ และสถานการณ์ในเรื่องทุกอย่างลงตัวมาก ๆ ทำให้เราเชื่อว่า เซียนนาเป็นผู้ใหญ่พอ ฮอร์คแม้จะมีเจตนาดีที่สุดด้วยการไม่ยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเธอ ก็ไม่อาจวิ่งหนีความต้องการ และหัวใจของตัวเองได้ นอกจากนี้การเล่าเรื่องก็ยังให้เวลา ให้เหตุผล และมีน้ำหนักมากพอที่จะเชื่อว่า ความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่แค่ความต้องการทางเพศ หรือเป็นสิ่งที่เรียกร้องจากด้านหมาป่าของฮอร์ค หากแต่เป็นบางอย่างที่จะไม่หายไป บางสิ่งที่ยั่งยืน คงทน

เรื่องนี้ยกย่องคนแต่งเลยนะคะ จากที่คิดว่า คงจะไม่ชอบ กลายเป็นยอมรับได้ แล้วกลายเป็นชอบมาก ๆ

ติดใจนิดนึงตรงภูมิหลังของเซียนนา ที่แน่นอนว่าเปิดเผยมาแบบนี้ ทำให้เรามีความรู้สึกว่า เธอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็นึกถึงเล่มก่อนหน้าที่อ่านไปแล้ว จริงอยู่ว่า มันไม่ได้ขัดกับสิ่งที่คนแต่งบอกคนอ่านเอาไว้ก่อนในเล่มก่อนหน้า (ไม่มีเล่มไหนที่พูดถึงเซียนนาในระหว่างที่เธอเติบโตมาเลย) แต่เรานึกสงสัยว่า นี่เป็นภูมิหลังที่นลินีวางแผนให้กับเธอมาตั้งแต่ต้นรึเปล่า การที่เธอถูกพรากไปจากแม่ตั้งแต่ห้าขวบ ถูกเลี้ยงดูโดยหมิง สมาชิกสภาชาวไซที่เหี้ยมโหด การฝึกฝนอันน่าหวาดกลัว และการที่จัดด์ทำอะไรไม่ได้เลย

แต่ก็ชอบนะที่เซียนนากลายเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ทางทหารไป เธอเรียนทุกอย่างมาจากหมิง ดังนั้นเธอจึงเป็นคนที่รู้ดีที่สุด ชอบการที่คาแร็คเตอร์เอาความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวเอง มาเป็นข้อได้เปรียบ และชอบฮอร์คมากที่รู้จักเธอดีพอที่จะไม่ออกอาการหวง ปกป้องเกินเหตุ

ชอบสุด ๆ ฉากที่เซียนนาออกอาการ "แคร์รี" (ใครเกิดทันดูหนังเรื่องนี้กันบ้าง) ตอนเธอแสดงพลังเอ็กซ์ล้างโลก (ให้อารมณ์นั้นมาก) อ่านแล้วเรานึกในใจแบบ "ฆ่ามันเลย" โหดไปไหมเนี่ย

อันนี้ยกประโยชน์ให้คนแต่งนะคะ เพราะหลังจากกลับไปอ่านใหม่แล้ว มีการพูดถึง "ความผิดปกติ" บางอย่างเกี่ยวกับจิตของวอร์คเกอร์มาก่อนในเล่มก่อนหน้า เราเลยคิดว่า นี่น่าจะเป็นทางออกที่เธอเตรียมไว้ให้กับพลังของเซียนนาเรียบร้อยแล้ว

อีกอย่างที่เราชอบ (อาจจะชอบมานานแล้ว แต่เพิ่งเห็นชัดเจนในเล่มนี้) ก็คือ การที่คนอ่านรู้มากกว่าตัวละคร อย่างฉากที่เผ่าสโนว์แดนเซอร์ปรึกษากับดาร์คริเวอร์ถึงสมาชิกสภาชาวไซที่เป็นผู้นำในการโจมตีสโนว์แดนเซอร์ แล้วทางวอห์นยืนยันว่า ไม่ใช่แอนโธนีแน่ ๆ ซึ่งคนอ่านรู้อยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่า แอนโธนีกับนิกิต้าร่วมมือกัน และแอนโธนีเป็นหนึ่งในกลุ่มปฏิวัติที่ต้องการล้มล้างไซเลนซ์ แต่ฮอร์คไม่รู้ คนแต่งเขียนเนียนมาก และแม่นมากในส่วนนี้ เรื่องที่คนอ่านรู้ ตัวละครบางตัวรู้ แต่ตัวเอกในเล่มอาจจะไม่รู้ พวกเขาก็ตั้งคำถาม ไม่ใช่ทำเหมือนรู้ ทั้งที่ไม่ควรจะรู้ได้ตามเนื้อเรื่อง

ส่วนที่ไม่ชอบของเล่มนี้ที่มากที่สุด ก็คงจะเป็นช่วงที่เรื่องหันไปโฟกัสที่ความสัมพันธ์ระหว่างวอร์คเกอรืกับลารา เราไม่ได้มีอะไรต่อต้านคาแร้คเตอร์ทั้งสองนะคะ แต่เรารู้สึกว่า มันแย่งเวลาที่ควรจะเล่าเรื่องของฮอร์คกับเซียนนาไป (ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะเล่มนี้หนากว่าเล่มปกติในชุดเล่มอื่น ๆ ที่นลินีเขียน จึงเป็นไปได้ว่า ที่มันหนาขึ้นมา เพราะเอาพล็อตของวอร์คเกอร์กับลารามาใส่เข้าไป) เราคิดว่า มันทำให้เสียสมาธิ อ่านแล้วปรับอารมณ์ไปมา เพราะสองคู่นี้ไม่เหมือนกันเลย (และความจริงที่ว่า เราว่าคู่ฮอร์คกับเซียนนามีความน่าสนใจมากกว่า) จริง ๆ แล้วก็มีการเขียนเรื่องสั้นของสองคนนี้ออกมาต่างหากนะคะ น่าจะเอาไปรวมอยู่กับชุดนั้นเลยดีกว่า (แต่อาจจะทำไม่ได้ เพราะเงื่อนเวลาในเรื่องด้วยแหละ อีกอย่างเล่มนี้ก็ต้องถือว่า เล่มนี้วอร์คเกอร์มีความสำคัญมาก)

เช่นเดิมเรารู้สึกอย่างเดียวกับที่รู้สึกตอนอ่าน Play of Passion เราไม่เข้าใจว่า ทำไมเพียวไซต้องลงทุนลงแรงมากมายไปกับเผ่าเชนจิ้งค์ด้วย เข้าใจกลยุทธ์พวกนี้นะ ต้องการทำลายซานฟรานซิสโกให้ราบ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง แต่มันง่ายกว่าไหม ถ้าแค่ลอบสังหารนิกิต้า และแอนโธนี (ที่ตอนนี้เป็นพันธมิตรกัน) เพราะเห็นได้ชัดว่า พวกเชนจิงค์คงไม่เข้าไปยุ่งกับการเมืองของพวกไซ การทุ่มกำลัง ยกกองทัพมาโจมตีทั้งสโนว์แดนเซอร์ และดาร์คริเวอร์ เท่ากับเป็นการเปิดศึกมากเกินความจำเป็น ไม่มีประโยชน์ (ในสายตาของเรา)

ฉากซึ้ง ๆ ในเล่มนี้มีเยอะมาก ระหว่างฮอร์คกะเซียนนาไม่ต้องพูดถึง ช่วงท้ายเรื่องเมื่อเขายอมที่จะตายไปพร้อมกับเธอ เมื่อคิดถึงความผูกพันที่เขามีต่อเผ่าสโนว์แดนเซอร์ นั่นมันใหญ่มาก แล้วยังการเกิดของนายา ลูกสาวของซาช่า กับลูคัส (แต่ชอบตอนที่นิกิต้าโอนเงินเข้ามาเป็นทุนการศึกษาให้หลานนะ เพราะสำหรับชาวไซอย่างเธอ นี่อาจจะเป็นการแสดงความรุ้สึกที่มากที่สุดที่ทำได้แล้ว)

เล่มนี้เหมือนรวมอะไรหลายอย่างไว้ด้วยกัน ในแง่นึงถือว่าเป็นเล่มที่เป็นจุดเปลี่ยนของชุดเลยก็ว่าได้ เพราะแต่ละเผ่าพันธุ์ไม่ได้อยู่ตามลำพังอีก นิกิต้าและสองเผ่าเชนจิ้งค์กลายเป็นพันธมิตร พันธมิตรที่ฮอร์คสร้างไว้ในอดีต (ฟัลคอน) ที่ลูคัสสร้างไว้ (แรท) ก็มีบทบาทในเล่ม แต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเองในการปกป้องเมือง และถิ่นที่อยู่ของพวกเขา

และต้องพูดถึงอลิซ อัลดริจท์ ยอมรับว่าช็อคมาก ไม่คิดว่าจะมาในรูปนี้ แต่เราเริ่มเห็นแววนางเอกในอนาคตแล้วล่ะ โดยเฉพาะเมื่อเธอรู้จักหน่วยแอโรว์ (เป็นไปได้ยังไง เมื่อเหตุการณ์ตอนที่ทุกคนเข้าใจว่า เธอตายเกิดขึ้นก่อนการบังคับใช้ไซเลนซ์ แต่เราเข้าใจว่า หน่วยแอโรว์ถูกสร้างขึ้นหลังจากนั้น เพื่อปกป้องไซเลนซ์ หรือมันเกิดขึ้นก่อนกันแน่? สงสัยต้องกลับไปอ่าน Caressed by Ice ใหม่)

โดยรวมเล่มนี้ทำให้เราเกินกว่าความคาดหวัง สมกับเล่มปกแข็งเล่มแรกของนลินี ซิงห์ ยิ่งใหญ่ สำคัญมาก ๆ ในชุด

คะแนนที่ 83





View all my reviews

Review: Branded by Fire


Branded by Fire
Branded by Fire by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



เราเคยเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้มาก่อนนะคะ เมื่อหลายปีก่อน ตอนที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก แต่เนื่องจากเราหยิบหนังสือชุดนี้มาอ่านใหม่อีกรอบ ทำให้มีสองรีวิวในเวลาเดียวกัน

เริ่มต้นจากรีวิวเก่าที่เราเคยเขียนเอาไว้


หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่หกในชุดไซ/ชาเลนจิ้งค์ เรื่องราวของโลกในอนาคตที่โลกของเราถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ชาวไซผู้มีพลังจิต ชาเลนจิ้งค์ผู้มีความสามารถในการแปลงร่างเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ และมนุษย์ธรรมดา จุดเด่นมาก ๆ ของหนังสือเรื่องนี้ก็คือ เทคนิคการเขียนของคนแต่งที่ไม่ทำให้เกิด Information Overload โดยให้ข้อมูลมากจนเกินไป ในแต่ละเล่มความลับและค่อย ๆ เผยออกอย่างชาญฉลาด และยิ่งทำให้เล่มต่อไปดูน่าติดตามมาก ๆ ส่วนตัวแล้วแม็กซ์คิดว่า ชุดนี้เขียนได้ลงตัว และมีการวางแผนอย่างรัดกุมมากที่สุด

แต่แน่นอนว่า การที่จะเริ่มต้นอ่านที่เล่มนี้เลยทันที ก็จะเป็นการสปอยล์เหตุการณ์ที่เกิดในเล่มก่อนหน้า ดังนั้นจึงไม่ต้องเตือนนะคะว่า รีวิวของแม็กซ์จะมีการสปอยล์หลายอย่างที่เป็นปริศนาในเล่มก่อนหน้า

เมอร์ซี่เป็นหนึ่งในเซนติเนลของเผ่าดาร์คริเวอร์ ซึ่งเป็นเผ่ามนุษย์เสือที่ครอบครองดินแดนในแถบคาลิฟอร์เนียตอนใต้ เผ่าดาร์คริเวอร์เป็นตัวละครสำคัญในหนังสือชุดนี้ เรื่องราวในชุดเกือบทุกเล่มจะโฟกัสไปที่คนในเผ่านี้ และเมอร์ซี่เป็นเซนติเนล (หรือเทียบก็คือกลุ่มคนที่เป็นมือขวาของหัวหน้าเผ่า) คนสุดท้ายที่เป็นโสด

เพราะเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว แถมยังมีลักษณะของความเป็นผู้นำมากกว่าชายทั่วไป ทำให้โอกาสของเมอร์ซี่ในการพบคู่ของเธอเป็นเรื่องยากมาก แต่กระนั้นเธอก็ไม่เคยคิดเลยว่า ตัวเองจะปิ๊งกับไรลี่ย์ ลูเทนเน้นท์จากเผ่าสโนว์แดนเซอร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเผ่าดาร์คริเวอร์ และเป็นกลุ่มมนุษย์หมาป่า

รักข้ามสายพันธุ์ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่เท่ากับลักษณะเด่นของทั้งเมอร์ซี่ และไรลี่ย์ ทั้งคู่มีความเป็นผู้นำ และตัวตนของสัตว์ที่อยู่ในกายของทั้งคู่ต่างเรียกร้องหลายอย่างที่อีกฝ่าย ไม่อาจจะยอมได้ ประเด็นในเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงอยู่ตรงนี้ เพราะไรลี่ย์เป็นหมาป่า เป็นมือขวาของหัวหน้าเผ่า เขาต้องการอย่างยิ่งที่จะปกป้องเมอร์ซี่จากอันตรายทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันเมอร์ซี่ไม่ใช่สาวน้อยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เธอคือเซนติเนลผู้แข็งแกร่ง เธอไม่อาจทนกับความพยายามปกป้องจากไรลี่ย์ได้มากนัก

หนังสือเล่มนี้จึงเหมือนการเต้นรำของทั้งคู่ ความพยายามที่จะมาพบกันครึ่งทาง เพื่อให้ทุกอย่างลงตัว เพราะในบางครั้งแค่ความรักมันก็อาจจะไม่เพียงพอ หากนั่นหมายถึงพวกเขาต้องเปลียนแปลงตัวเองไปเป็นอีกคนนึง

แม็กซ์ชอบความสัมพันธ์ระหว่างไรลี่ย์และเมอร์ซี่มาก ๆ นะคะ อาจจะเรียกได้ว่ามากพอ ๆ กับที่ชอบคู่เบรนน่าและจัดด์ (จาก Caressed by Ice) เลยด้วยซ้ำ ทั้งคู่เป็นตัวละครที่มีคาแร็คเตอร์ชัดเจน และรู้ว่าต้องการอะไร และพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อให้ได้มา แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะเป็นไปสวยหรู ไรลี่ย์ไม่อาจเอาชนะสัญชาตญาณที่ต้องการปกป้องเมอร์ซี่ ในขณะเดียวกันเสือดาวในกายของเธอก็ไม่อาจยอมรับชายที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเธอ ได้เช่นกัน

ตามความเห็นของเราเล่มนี้เป็นเรื่องที่มีฉากเซ็กส์ที่ร้อนแรงมากที่สุดเล่ม นึงในชุด แต่ก็ด้วยความสามารถของคนแต่งอีกเช่นกันค่ะ ที่เรารู้สึกว่า เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ด้วยบุคลิคของทั้งไรลีย์และเมอร์ซี่ที่มีความเป็นอิสระสูง และสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ที่แฝงในกายของทั้งคู่ มันจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมมาก ๆ

ถ้าเรื่องนี้จะมีข้อเสีย (แม็กซ์ไม่แน่ใจว่าใช้คำนี้ถูกไหมนะคะ) ก็คงเป็นที่ พล็อตไม่ค่อยจะมีความเกี่ยวข้องกับตัวละครเอก ในเรื่องมีการกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจที่สาม กลุ่มสหพันธ์มนุษย์ (Human Alliance) ที่พยายามโชว์อำนาจของตัวเองด้วยการวางแผนการบางอย่าง และหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวสมาชิกจากเผ่าดาร์คริเวอร์ไป ในฐานะที่เป็นเซนติเนลจึงเป็นหน้าที่ของเมอร์ซี่ และไรลี่ย์ซึ่งเป็นพันธมิตรของดาร์คริเวอร์ในการสืบหาความจริง และทำให้ทั้งสองได้ล่วงรู้แผนการที่ร้ายแรงยิ่งกว่า กระนั้นทั้งหมดนี่ก็ยังไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวไรลี่ย์หรือเมอร์ซี่เลย นั่นทำให้เดิมพันของตัวละครไม่สูงเพียงพอ เพราะมันเป็นเรื่องของคนอื่น

ในอีกทางนึง พล็อตแนวนี้ทำให้คนอ่านได้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมของชุดนี้มากขึ้น เราได้รู้เห็นความเป็นไปของกลุ่มสหพันธ์มนุษย์ ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาผู้ปกครองชาวไซ และได้มีโอกาสเห็นชีวิตความเป็นของตัวละครในเล่มก่อนหน้าว่าหลังจากแฮ็ปปี้ เอ็นดิ้งส์ในเล่มของตัวเอง พวกเขามีชีวิตต่อมาอย่างไร

แม็กซ์จึงอยากสรุปสาระของเล่มนี้ว่า เป็นเล่มหยุดพักเพื่อรอสงครามใหญ่

นั่นไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ไม่สนุกนะคะ เพราะมันสนุกตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย และพล็อตที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับตัวละครหลักก็ไม่ได้เบี่ยงเบนความน่าสนใจ ของพวกเขา และนี่คือคำชม เพราะเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังสือชุด BDB ของเจอาร์ วาร์ด ที่คนแต่งสร้างโลกใหญ่เกินความน่าสนใจของตัวละครเอก และมันเป็นการทำลายตัวละครเอกไปหมดสิ้น (นั่นคือหนังสือสนุกนะคะ แต่ตัวละครเอกน่าเบื่อหน่าย) แต่นลินีรอดพ้นจากกับดักอันนั้น

ต่อไปเป็นความเห็นของแม็กซ์เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ หลังจากอ่านเล่มนี้จบนะคะ (ต้องขอโทษเพื่อนหลายคนด้วยที่เราอ่านช้า เลยไม่ได้คุยกันในเวลาที่ควรจะเป็น) และแน่นอนว่า มันเป็นสปอยล์สำหรับคนที่ไม่ได้อ่านมาจนถึงเล่มนี้นะคะ

แม็กซ์เป็นคนแปลกกว่าคนอื่นค่ะ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงไม่คลั่งไคล้ในตัวฮอร์ค ซึ่งเป็นหัวหน้าเผ่าสโนว์แดนเซอร์ เราไม่มีความอยากอ่านเรื่องของเขาแม้แต่นิดเดียว โดยเฉพาะเมื่อหลายอย่างบ่งชี้ว่า เซียนน่าจะเป็นนางเอกของเขา แต่ในเล่มนี้เริ่มทำให้เรามีความหวัง เพราะมีความเป็นไปได้ที่เธอจะไม่ใช่นางเอกของเขา และแม็กซ์ภาวนาให้เป็นอย่างนั้น เพราะเราคิดว่า เซียนน่าเป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจ (ซึ่งเราเพิ่งรู้สึกในเล่มนี้) แต่ความน่าสนใจของเธอจะไร้ค่ามาก ๆ ถ้าเอาเธอมาประกบคู่กับฮอร์ค

ตัวละครอื่นที่เราอยากให้นลินีเขียนถึงมากที่สุดคือ คาเล็บ สมาชิคสภาผู้ปกครองชาวไซ และนี่คือความกลัวสูงสุดของเรา ถ้าหากคาเล็บกลายเป็นตัวร้าย แล้วไม่มีเล่มเป็นของตัวเอง แม็กซ์บอกตามตรงนะคะว่า เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะรู้สึกยังไงถ้ามันออกมาเป็นเช่นนั้น เพราะบอกตามตรงว่า ตอนนี้ฉากไหนที่คาเล็บออก ใจแม็กซ์ละลายแล้วละลายอีก เลยไม่รู้ว่าจะทำใจได้แค่ไหนน่ะค่ะ หากเขาไม่ได้เป็นพระเอก (บอกตามตรงว่า แม็กซ์ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนดีไหม แต่เราคิดว่าเขาคือโกสต์ ซึ่งในเรื่องก็บอกเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า จะทำทุกอย่างเพื่อชาวไซ ซึ่งนั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีกับเผ่าพันธุ์อื่นก็ได้)

ในเรื่องนี้ฉากที่เขาคิดหลังจากสู้กับกลุ่มสหพันธ์มนุษย์ทำเอาเราใจหายไปมาก ๆ เลย โดยเฉพาะเมื่อเขาเอ่ยชื่อตัวร้ายในเล่มแรก (แต่ยังมองโลกในแง่ดีว่า คนแต่งจะทำให้คนอ่านสับสน)

อยากรู้ว่า มีใครเกิดความรู้สึกนี้กับคาเล็บอย่างที่แม็กซ์เป็นบ้างไหมคะ

สำหรับเล่มนี้ คะแนนที่ 83



และนี่คือสิ่งที่เราคิดหลังจากอ่านจบรอบใหม่

เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นอีกด้านนึงของคนแต่งในการเขียนส่วนของโรแมนซ์ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเมอร์ซี และไรลีย์แตกต่างจากพระนางในเล่มก่อนหน้า การจับคู่ในเล่มก่อนหน้าเป็นการจับคู่ต่างเผ่าพันธุ์กัน และมักจะมีฝ่ายหนึ่งเสมอที่เย็นชา หรือมีปมในใจทำให้ไม่อาจเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางกายได้ แต่มาในเล่มนี้เป็นเรื่องราวความรักของชาวเชนจิ้งค์ทั้งสองคน เผ่าพันธุ์ที่เปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึก ความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่เมอร์ซี และไรลีย์จะเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ทางกายก่อนทุกอย่าง

เล่มนี้เป็นเหมือนเรื่องที่ส่งผ่านจากเผ่าดาร์คริเวอร์ไปยังสโนว์แดนเซอร์ เพราะแม้จะมีการกล่าวถึงเผ่าสโนว์แดนเซอร์มาแล้วบ้างในเรื่อง Caressed by Ice แต่เพราะจัดด์เป็นคนนอก และเบรนนาก็บอบช้ำไม่น้อย คนอ่านจึงไม่เห็นความเป็นไปภายในเผ่านั้นเท่าไหร ทว่าเล่มนี้เหมือนก็โยงใยเอาเรื่องต่าง ๆ ในเล่มก่อนหน้า ใช้คาแร็คเตอร์ที่คนอ่านรู้จักกันดีอยู่แล้วอย่างเผ่าดาร์คริเวอร์ ตัวละครเดียวที่ยังไร้คู่อย่างเมอร์ซี การจับคู่เธอกับไรลีย์ ซึ่งเปรียบเสมือนมือขวาของฮอร์ค หัวหน้าเผ่าสโนว์แดนเซอร์ เป็นการแนะนำตัวละครใหม่ ๆ และความเป็นไปในเผ่าสโนว์แดนเซอร์อย่างลงตัว

ประเด็นในเรื่องความรักไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นกันมาก เพราะไม่ได้มีอุปสรรคอะไรใหญ่หลวง นอกจากความรับผิดชอบของทั้งคู่ เมอร์ซีที่มีต่อเผ่าดาร์คริเวอร์ และไรลีย์ต่อเผ่าสโนว์แดนเซอร์ ทั้งคู่ไม่แน่ใจว่า หากทั้งสองตัดสินใจผูกพันใช้ชีวิตร่วมกัน นั่นจะหมายถึง คนใดคนหนึ่งจะต้องละทิ้งเผ่าของตัวเองหรือไม่ ไม่มีใครรู้คำตอบนั้น เพราะยังไม่เคยมีการผูกพันกันระหว่างสองเผ่า โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่มีความเข้มแข็งเท่าเทียมกัน และครอบครองตำแหน่งสำคัญเหมือนกันในเผ่าของตัวเอง แต่นี่คือหนังสือโรแมนซ์ เราพอจะนึกถึงทางออกหลายอย่างได้ นั่นจึงทำให้เวลาอ่านไม่ต้องลุ้นอะไรมากมายเท่าไหรนัก

เล่มนี้พล็อตต่อเนื่องกับเล่มก่อนหน้า ที่ตัวกองกำลังติดอาวุธของมนุษย์ ที่รวมตัวกันเพื่อลุกขึ้นสู้กับความไม่ยุติธรรม มนุษย์ที่ถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกควบคุมได้ด้วยชาวไซ และอ่อนแอกว่าเหล่าเชนจิ้งค์ มาในเล่มนี้พวกเขาเป็นฝ่ายรุก ถึงขนาดวางแผนลอบสังหารสมาชิกสภาชาวไซ รวมทั้งวางแผนก่อการร้ายใหญ่โต

ส่วนที่เราชอบในเล่มนี้ก็คือ ความจริงที่เปิดเผยในที่สุดว่า ตัวร้ายแท้จริงก็คือชาวไซนั่นแหละ และกลายเป็นการเปิดโปงโฉมหน้าของทาเทียนา ริกา-สมิธไปด้วย

ก่อนหน้าเล่มนี้ เรารู้สึกเหมือนว่า เธออาจจะกลายเป็นฝ่ายดี (คำว่าดี ในแง่ที่ว่า เธออาจจะกลายมาเป็นตัวเอกในอนาคต ไม่ใช่ดีแบบเป็นคนดี) ได้ แต่หลังจากเล่มนี้ คนอ่านได้รู้ธาตุแท้ของเธอในที่สุด และได้รุ้ถึงความน่ากลัวของเธอด้วยในที่สุด

เล่มนี้ความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์คและเซียนนาค่อนข้างเป็นโฟกัสของเรื่อง เราพูดความรู้สึกของเราโดยรวมต่อสองคนนี้รวมมาถึงเล่มนี้เลยนะคะ เราค่อนข้างเชื่อว่าฮอร์คน่าจะคู่กับเซียนนา (และก็พิสูจน์ว่าจริงใน Kiss of Snow) แต่เรา (แม้กระทั่งตอนที่อ่านใหม่) มาจนถึงเล่มนี้กลับไม่รู้สึกตื่นเต้น ตามลุ้นไปกับสองคนนี้เท่าไหรนัก ตอนอ่านครั้งแรกก็คิดไม่ออกนะคะว่า เพราะอะไร แต่อ่านครั้งใหม่นี่เห็นชัดเจนเลย เรารู้สึกว่า คนแต่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์ค และเซียนนาไปในทางคู่กัดกันมากเกินไป ด้วยอายุที่มากกว่า และสถานะที่สูงกว่าของฮอร์ค ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเรื่องของทั้งคู่ออกมา คงจะเป็นแนวสลักจิต (ถ้าใครเกิดทันได้อ่านนะ) และนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการสำหรับสองคนนั้น และนั่นก็พิสูจน์ว่า เราไม่ได้เรื่องเลย ประมาทฝีมือการเขียนของนลินี ซิงห์มากเกินไป เพราะ Kiss of Snow เวิร์คมาก ๆ ต่อไป เธอจะจับคู่ใครกับใคร เราไม่มีเสียงวิจารณ์อีกแล้วค่ะ

สำหรับเล่มนี้คะแนนเท่าเดิมอีกเช่นเคย



View all my reviews

Review: Blaze of Memory


Blaze of Memory
Blaze of Memory by Nalini Singh

My rating: 3 of 5 stars



หนังสือเล่มที่เจ็ดในชุดไซ/ชาร์เลนจิ้งค์เล่มแรกที่เรื่องราวเปลี่ยนฉากจากตอนใต้ในรัฐคาลิฟอร์เนียไปนิวยอร์ค บอกเล่าเรื่องของกลุ่มคนที่เป็นปริศนามากที่สุดกลุ่มนึงในเรื่อง

นั่นเพราะในโลกของหนังสือเล่มนี้ คนอาจจะถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ชาวไซผู้ทรงพลังจิต ชาร์เลนจิ้งค์ผู้เต็มไปด้วยพละกำลัง และมนุษย์ธรรมดาที่ดูเหมือนจะตกเป็นเบื้ยล่างของทั้งสองกลุ่ม แต่ก็ยังมีกลุ่มเดอะ ฟอร์ก๊อตเท้น หรือผู้คนที่ถูกลืมแอบแฝงอยู่ในเหล่ามนุษย์ธรรมดานี่ด้วย

พวกฟอร์ก๊อตเท้นก็คือชาวไซที่ไม่เห็นด้วยเมื่อสภาผู้ปกครองลงความเห็นให้นำเอาวิธีการ "ความเงียบ" มาให้กับประชากร พวกเขาก่อกบฎ และหลบหนีออกไปจากไซเน็ต (ซึ่งเป็นเครือข่าวทางจิตที่ชาวไซต้องต่อเชื่อมอยู่มิฉะนั้นก็จะตาย) อย่างลับ ๆ พวกเขาก่อตั้งชาร์โดว์เน็ตขึ้น แต่งงานปะปนไปกับมนุษย์ธรรมดา หรือชาร์เลนจิ้งค์ทำให้สายเลือดชาวไซเจือจาง จนเกือบจะถูกลืม

แต่สภาผู้ปกครองชาวไซไม่เคยลืม และมองว่าเหล่าฟอร์ก๊อตเท้นคือ ศัตรูที่ต้องทำลาย ในเวลาหนึ่งร้อยปีนับจาก "ความเงียบ" ถูกนำมาใช้ ลูกหลานของกบฎกลุ่มแรกก็ยังโดนตามล่าเพื่อเอาชีวิต

จากเหตุการณ์ในเรื่อง Mine to Possess ทำให้คนอ่านได้รู้จักฟอร์ก๊อตเท้นเป็นครั้งแรก เมื่อเด็ก ๆ ของพวกเขาตกเป็นเป้าหมายการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากชาวไซ และในเล่มนี้เราก็จะได้เห็นถึงความพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออิสระในความคิด สิ่งที่พวกเขายอมสูญเสียเมื่อที่จะได้มีความรู้สึก

และนี่เองก็คือวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไชน์ ที่เปรียบเสมือนสภาผู้ปกครองสูงสุดของเหล่าฟอร์ก๊อตเท้น มูลนิธิไชน์อาจมีกรรมการบริหารซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า อำนาจที่แท้จริงของการดำเนินงานทั้งหมดของไชน์อยู่ที่เทวราช ซานโตส ผู้อำนวยการมูลนิธิไชน์

เทวราช หรือเดฟ (เขียนชือภาษาอังกฤษว่า Devraj แต่หลังจากพิจารณาดูแล้วน่าจะชื่อเทวราชนี่แหละค่ะ) เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตและความอยู่รอดของเหล่าฟอร์ก๊อตเท้นทุกคน และหลังจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่อง MTP แล้ว เดฟก็ไม่อาจยอมให้คนของเขาต้องสูญเสียมากไปกว่านี้อีกได้

และนั่นจำเป็นที่เขาจะต้องเยือกเย็นจนแทบจะกลายเป็นคนไร้หัวใจ คนที่อยู่ในตำแหน่งอย่างไม่อาจมีความเมตตาให้กับศัตรูได้ มันอาจจะเป็นสงครามที่ไม่ได้ประกาศ แต่เดฟรู้ดีว่า พวกเขาไม่อาจประมาทได้ เพราะสภาผู้ปกครองชาวไซหมายมั่นที่จะกวาดล้างเหล่าฟอร์ก๊อตเทนให้สิ้นซาก

ดังนั้นเมื่อหญิงสาวลึกลับชาวไซนอนหมดสติอยู่ที่หน้าบ้านของเขา เดฟก็รู้ว่า มันต้องมีอะไรบางอย่างมากกว่าภาพที่เห็น โดยเฉพาะเมื่อเธอฟื้นคืนสติขึ้น และไม่อาจจำเรื่องราวในอดีตได้เลย

แม็กซ์ไม่คิดว่ามันจะเรียกว่าสปอยล์นะคะ เพราะตัวตนที่แท้จริงของหญิงสาวคนนี้ถูกเปิดเผยภายในห้าสิบหน้าแรก แต่ถ้าคุณอยากจะเดาเอาเองว่าเธอคือใคร ก็ได้เวลาหยุดอ่านรีวิวแล้วนะคะ

เธอคือเอแคทริน่า ซึ่งเป็นผู้ช่วยงานวิจัยของอชายา เอลีน นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องที่สุดของชาวไซ (และนางเอกเรื่อง Hostage to Pleasure) ผู้ซึ่งถูกเข้าใจมาตลอดว่าเสียชีวิตไปจากการกวาดล้างของสภาผู้ปกครองชาวไซ แต่แท้จริงแล้วเคทย่า ซึ่งเป็นชื่อที่เธอต้องการใช้ (เพราะเอแคทริน่าได้ตายไปจากการทรมานแล้ว) ถูกจับทรมานเพื่อรีดความจริงเกี่ยวกับแผนการที่เธอสมคบคิดกับอชายา และเธอได้ถูกเปลี่ยนจากหญิงสาวธรรมดากลายเป็นอาวุธ ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญก็คือ การลอบสังหาร

มันไม่ใช่ความผิดของเธอที่แคทย่ากลายเป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธของชาวไซที่ต้องการใช้เล่นงานเหล่าฟอร์ก๊อตเท้น แคทย่าไม่รู้ว่า คนที่ส่งเธอมาได้ซ่อนอะไรเอาไว้ภายใต้จิตใจที่ถูกทำลายของเธอบ้าง ไม่รู้ว่า คำสั่งให้เล่นงานเหล่าฟอร์ก๊อตเท้นมีอะไรบ้าง แต่เธอก็รู้ดีว่า พวกนั้นคงไม่ได้ปล่อยเธอออกมาจากที่คุมขังเพราะความใจดี

หน้าที่ความรับผิดชอบที่เดฟแบกรับเอาไว้ ก็ไม่อาจทำให้เขาทำได้ดั่งที่ใจต้องการ เดฟบอกกับตัวเองว่า เขาจะฆ่าเธอทันทีที่เธอแปรสภาพเป็นอาวุธตามที่ถูกวางโปรแกรมไว้ กระนั้นเดฟก็ไม่อาจปลิดชีวิตของหญิงสาวคนนี้ไ ได้ แม้จะแน่ใจว่าวัตถุประสงค์ที่เธอถูกส่งเข้ามาคงไม่ใช่เรื่องดี และนั่นทำให้เดฟเลือกที่จะเก็บเคทย่าไว้ใกล้ตัว เขาเชื่อว่าดูแลตัวเองจากเคทย่าได้ แต่สิ่งที่เดฟไม่ได้คิดก็คือ หัวใจของเขาที่ได้สูญเสียให้เธอ ความรักที่ไม่อาจเป็นไปได้

อย่างที่บอกนะคะ แม็กซ์ไม่ได้รู้ว่า คาแร็คเตอร์ของเดฟที่ออกในเรื่อง MTP มีความน่าสนใจขนาดที่อยากอ่าน ยิ่งเคทย่าไม่ต้องพูดเลย เธอแทบจะไม่มีความสำคัญด้วยซ้ำ แต่ในเล่มนี้ ตั้งแต่หน้าแรกที่เปิดตัวเดฟ ขอบอกว่า เท่ห์มาก ๆ และได้ใจแม็กซ์ไปเต็ม ๆ คาแร็คเตอร์พระเอกใจแข็งที่ต้องตัดสินใจในสิ่งที่ยาก ทำเอาหัวใจเราละลายค่ะ เพราะการที่ทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้คนที่รอคอยความหวังจากเขา เดฟต้องตัดสินใจในสิ่งที่ยาก และบางครั้งก็โหดเหี้ยม แต่ในสงครามเพื่อช่วยคนส่วนใหญ่ เขาก็อาจจะต้องสละบางคนไป โดยเฉพาะถ้าคนนั้นไม่ใช่คนที่เขาต้องคุ้มครอง และในเรื่องนี้เดฟก็ถูกทดสอบ เมื่อเขาพบว่าตัวเองมีใจให้กับนกต่อที่ถูกส่งมาโดยศัตรู เขาต้องเลือกระหว่างความรัก และความถูกต้อง ซึ่งเรื่องไม่ได้ไปถึงจุดนั้นหรอกนะคะ เพราะนลินีเขียนคาแร็คเตอร์เคทย่าได้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า

แม็กซ์ไม่ชอบเคทย่าตั้งแต่แรกเห็น ช่วงต้นเรื่องที่อ่าน เธอให้ความรู้สึกเป็นนกน้อยปีกหักผู้ซึ่งต้องได้รับการประคบประหงม เธอดูอาโนะเนะเกินไปสำหรับแม็กซ์ แต่เธอก็เติบโตและเข้มแข็งขึ้น ซึ่งนลินีก็เขียนได้น่าเชื่อชนิดที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนของเธอเลยสักนิดเดียว กลายเป็นหญิงสาวที่แม็กซ์นับถือ และเชื่อได้อย่างสนิทใจว่า หญิงสาวคนนี้นี่แหละที่ละลายหัวใจของเดฟได้

เรื่องนี้เป็นเล่มที่เราเสียน้ำตาให้มากที่สุดในชุดค่ะ เรื่องไม่ได้เศร้านะคะ แต่แม็กซ์มักจะเสียน้ำตาให้กับความเป็นไปได้ ความรักระหว่างเดฟและเคทย่าน่าเชื่อ และในหลายครั้งเราแทบไม่เชื่อว่ามันจะจบลงด้วยดี แม้วิธีการแก้ปัญหาของนลินีจะดูง่ายเกินไป แต่ก็เป็นการโชว์ความสามารถของเธอเช่นกัน เพราะองค์ประกอบทุกอย่างก่อนที่จะมาถึงฉากนี้ ได้ถูกวางไว้อย่างชาญฉลาดในหลายเล่มก่อนหน้า ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า มันไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ตอนจบดูสวยงาม แต่เป็นส่วนหนึ่งในพล็อตเรื่องที่ซับซ้อนแต่เข้าใจง่ายของเธอในหนังสือชุดนี้

ซึ่งนี่เองก็ต้องเป็นอีกครั้งที่แม็กซ์ต้องชมคนแต่งนะคะ เพราะเธอเก่งมาก ๆ ในโลกที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก แต่เธอกลับทำให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอย่างถ่องแท้ ในเวลานี้แม็กซ์คิดว่า เทคนิคการเล่าเรื่องของนลินี ซิงค์ถือเป็นอันดับหนึ่งไปแล้วล่ะค่ะ

สุดท้ายเราก็ขอพูดถึงความคิดของตัวเองเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวที่อาจเป็นไปได้ในเล่มนี้ ซึ่งแน่ล่ะว่าจะเป็นการสปอยล์เนื้อเรื่องหลายอย่างในเล่มนี้ ดังนั้นถ้าไม่ต้องการสปอยล์ก่อนอ่านก็ข้ามไปตอนท้ายที่เป็นคะแนนเลยนะคะ

ความคืบหน้าในส่วนของพล็อตที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นเรื่องหน่วยแอโรว์ (ซึ่งเป็นหน่วยที่จัดด์เคยทำงานให้) ซึ่งในเล่มนี้มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หมิงซึ่งเป็นสมาชิคสภาชาวไซที่เป็นผู้นำหน่วยแอโรว์ด้วยมีเหตุได้รับบาดเจ็บบางตาย ในตอนจบของเล่มนี้มีการพูดถึงชะตาชีวิตของหมิง และความเป็นไปของหน่วยแอโรว์ ซึ่งเวสิค (ซึ่งเป็นตัวละครที่ออกใน HTP) จะกลายเป็นตัวละครที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เขาก็จะก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นที่สำคัญในเรื่องชุดนี้

และนั่นก็นำแม็กซ์ไปสู่เคเลบ ไม่รู้ว่าเป็นความคิดเข้าข้างตัวเองเกินไปไหมนะคะ แต่ทุกครั้งที่แม็กซ์อ่านฉากที่โกสต์มีบทบาท คาแร็คเตอร์โกสต์ให้ความรู้สึกเหมือนกับตอนที่อ่านฉากที่เคเลบออกมาก แต่ประเด็นที่ติดใจเราอยู่ก็คงเป็นประเด็นเดิมที่ว่า เคเลบเป็นศิษย์ของเอ็นริโก้ (ซึ่งเป็นฆาตกรต่อเนื่องจากเล่มแรก) มันคาใจเรามาก ๆ โอ้ยไม่อยากจะคิดเลยค่ะว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นพระเอกในเล่มของตัวเอง แม็กซ์จะมีอาการยังไงบ้าง เพราะตอนนี้เรานอนฝันเป็นเขาไปแล้วล่ะค่ะ

เล่มหน้าจะเป็นเรื่องของแม็กซ์ ที่ไม่ใช่แม็กซ์คนเขียนบลอกนะคะ แต่เป็นตัวละครที่เคยออกมามีบทใน MTP ซึ่งแม็กซ์ละอายใจอย่างมากที่จำเขาไม่ได้ค่ะ แต่ดูจากบทที่ตัดมาให้อ่านแล้ว น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวไซ ผู้มีความสามารถในการอ่านความทรงจำของคนได้ ซึ่งทำให้ชาวไซเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาซึ่งก็น่าจะมีเรื่องเกี่ยวข้องกับแม็กซ์ซึ่งเป็นตำรวจ

สำหรับเล่มนี้คะแนนที่ 80



นั่นเป็นรีวิวที่เราเขียนเมื่อหลายปีก่อนค่ะ การกลับมาอ่านใหม่ไม่ได้ให้ประสบการณ์ที่เต็มตื้นเหมือนเดิมนะคะ เราพบว่า เนื้อเรื่องมีความเมโลดรามาเกินเหตุ แน่นอนว่า เรายังอ่านไปร้องไห้ไปเหมือนเดิม แต่คราวนี้ไม่ได้ร้องให้กับความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ระหว่างเดฟกับแคทย่าแล้ว อาจจะเพราะว่า เรารู้ตอนจบ และรู้ว่า เธอจะรอดยังไง แต่กลับเป็นการร้องให้กับจดหมายที่ขึ้นต้นแต่ละบทในเรื่อง ซึ่งเล่าเรื่องของบรรพบุรุษของเดฟในยุคสมัยที่มีการบังคับให้ชาวไซทุกอย่างต้องอยู่ในกระบวนการไซเลนซ์ อ่านไปก็สะอื้นไป นึกถึงชีวิตคนในสมัยนั้นไม่ถูกเลย ยิ่งตอนที่พูดถึงทางเลือกที่สามี (ของคนที่เขียนจดหมาย) เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความรู้สึกเพียงแค่วันเดียว แล้วกลายเป็นบ้า (เพราะเขาเป็น F Psy) ดีกว่าใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตไม่รู้สึกอะไรเลยเพราะอยู่ในไซเลนซ์

ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะเรารู้ทางออกของเรื่องก่อนแล้ว (เพราะเคยอ่านมาก่อน) มาเล่มนี้ อารมณ์ร่วมที่เรามีไปกับพระนางคู่หลักจึงถือว่าน้อยมาก ยิ่งเมื่อคิดว่า ทั้งเดฟ และเคทย่าค่อนข้างเป็นคนนอกในปมความขัดแย้งที่ดำเนินมาตลอดทั้งชุด พวกเขาไม่ใช่เชนจิ้งค์ และชาวไซ (แคทย่าอาจจะเป็น แต่เธอไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตัวตนของเธอโดนทำลายไปกับการโดนทรมานหมดแล้ว) พล็อตเรื่องของเล่มนี้จึงดูห่างไกลค่อนข้างมาก

ปัญหาของเล่มนี้สำหรับเรา (ตอนที่อ่านซ้ำ) ก็คือ เราไม่สนใจตัวเอกเท่าไหรค่ะ (ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่เราอธิบายไปแล้ว เรารู้ว่า ปัญหาของพวกเขาจะถูกคลี่คลายได้ยังไงในที่สุด) แต่เรื่องราวของคาแร็คเตอร์รอบตัวเขาก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเล่มนี้จัดด์กลับมามีบทเด่นอีกแล้ว เมื่อเขาได้พบกับเด็กชายที่มีความสามารถพิเศษแบบเดียวกับที่เขามี ความสามารถอันน่าหวาดกลัว

ในเล่มนี้เช่นกันได้กล่าวถึงทางเลือกของกลุ่มผู้ถูกลืม หรือชาวไซที่ปฏิเสธวิธีการไซเลนซ์เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน แน่นอนว่าพวกเขาก็กำลังประสบปัญหาเดียวกับที่ชาวไซในอดีตกำลัเผชิญ พวกเขาเปิดรับอารมณ์ แต่ก็มีพลังอันร้ายกาจซ่อนอยู่ พลังที่พวกเขาไม่อาจควบคุมได้ ทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงว่า วิธีการไซเลนซ์อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม การได้อ่านเล่มต่อ ๆ ไปจากเล่มนี้ เราก็พอรู้นะคะว่า ทำไมคนแต่งจึงต้องเขียนเล่มนี้ออกมาก่อน แม้จะดูเหมือนว่า คาแร็คเตอร์แทบจะไม่เกี่ยวพันกับพล็อตของชุดโดยรวมเลย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเล่มนี้ น่าจะกลายเป็นประเด็นสำคัญมาก ๆ ต่อไปในอนาคต (เราเดาว่า น่าจะเป็นพล็อตของเล่มที่ออกมาหลังจาก Heart of Obsidian นั่นเลย)

ความน่าสนใจในเล่มนี้อีกอย่าง อยู่ที่หน่วยแอโรว์ นอกจาก Caressed by Ice แล้ว เล่มนี้เป็นเล่มที่เล่าถึงหน่วยแอโรว์มากที่สุด มันอาจจะไม่ได้ชัดเจน แต่ก็พอรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่มีส่วนสำคัญมาก ๆ กับพล็อตเรื่องโดยรวม

และแน่นอนว่า ได้แนะนำคาแร็คเตอร์ (จริง ๆ เขาออกมาหลายเล่มก่อนหน้าเล่มนี้นะคะ แต่ไม่เคยโดดเด่นมากพอให้เรามองเห็น) ที่อาจจะเป็นโกสต์ได้อีกคน นอกจากตัวเก็งสำคัญอย่างเคเลบ เวสิค เป็นหน่วยแอโรว์ความสามารถ Tk ที่ทรงพลัง ความใกล้ชิดที่เขามีต่อหมิง ผู้นำหน่วย และสมาชิกสภาชาวไซ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เขาจะเข้าถึงข้อมูล ที่สำคัญเขาแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกบฎ

ส่วนตัวเราไม่เชื่อนะคะ แต่ถือว่า เป็นตัวล่อหลอกคนอ่านที่ดี



คะแนนที่ 73



View all my reviews

Review: Play of Passion


Play of Passion
Play of Passion by Nalini Singh

My rating: 4 of 5 stars



เราเปรียบเทียบเรื่องนี้กับ Branded by Fire นะคะ เพราะเป็นการจับคู่ชาวเชนจิงค์กับเชนจิงค์ด้วยกัน และแม้เราจะชอบเรื่อง Branded by Fire ไม่น้อย เราชอบเล่มนี้มากกว่าค่ะ องค์ประกอบหลายอย่าง ๆ ในเล่มนี้น่าสนใจมากกว่า โดยเฉพาะพล็อตเรื่องในภาพรวมของชุดที่ถือว่า มีความคืบหน้าไปเยอะมากในเล่มนี้ (ในขณะที่ใน Branded by Fire ค่อนข้างนิ่ง)

อินดิโก้อยู่ในสถานะที่สูงกว่าในลำดับขั้นความแข็งแกร่ง (ไม่ใช่เรื่องพลังกำลัง แต่เป็นความเหนือกว่าตามธรรมชาติของสัตว์ป่า ไล่ลงมาจากจ่าฝูง) นั่นเป็นปัญหาใหญ่ของเธอในการหาคู่ครอง ไม่ใช่ว่าอินดิโก้จะช่างเลือก ในโลกที่เธออาศัยอยู่ แทบจะไม่มีผู้หญิงคนไหนที่มีสถานะสูงเท่าเธอ และนั่นทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่ในเผ่าสโนว์แดนเซอร์ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม และนั่นคือเหตุผลที่เธอบอกให้ตัวเองตอบปฏิเสธดรูว คินเคดเหมือนเขาเสนอไมตรีมาให้

ดรูว์ซึ่งอยู่สถานะที่แตกต่างในเผ่า ลำดับของความ Dominant อาจจะต่ำกว่าอินดีโก้ แต่เขาไม่ได้รายงานตัวต่อเธอ หากแต่เป็นฮอร์ค จ่าฝูงโดยตรง หน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ประกอบกับความสามารถพิเศษที่ติดตัวมาแต่เกิด ดรูว์เป็นนักแกะรอยประจำเผ่า คอยตามหาหมาป่านอกคอกที่ไม่อาจควบคุมตัวเองและอาจจะทำร้ายผู้อื่นได้ นอกจากนี้ด้วยนิสัยที่เข้ากับคนง่าย และสามารถสร้างภาพลวงตาว่าเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ ทำให้ดรูว์เป็นตัวเลือกที่ดีในการควบคุมหน่วยข่าวกรองของเผ่า ทั้งหมดนั่นทำให้ดรูว์เหมาะสมกับงาน แต่ยิ่งทำให้ดูไม่เหมาะเอาเสียเลยสำหรับอินดีโก้ ที่ต้องการผู้ชายที่มีความโดมิเน้นท์มากกว่าเธอ

แต่งานนี้ดรูว์ไม่ยอมง่าย ๆ เพื่อหญิงสาวที่เขาหมายปองมานานจนแทบจะจำไม่ได้

เล่มนี้พระเอกน่ารักค่ะ นลินี ซิงห์เขียนให้ดรูว์น่ารักได้โดยไม่ดูอ่อนแอ เราขำไปกับพฤติกรรมหลายอย่างของเขา โดยเฉพาะช่วงที่เขาต้องตามง้องอนอินดีโก้ (หอนเป็นริงโทนในโทรศัพท์ของเธอ) และนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ เพราะเริ่มต้นเรื่องอินดิโก้ปิดกั้นความคิดระหว่างเธอและดรูว์อย่างยิ่ง ตัวอย่างแย่ ๆ ที่เธอเห็นจากคู่ครองของผู้เป็นน้า (ที่เลือกชายที่มีความโดมิเน้นท์ต่ำกว่า) ทำให้เธอไม่กล้าที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ ยิ่งดรูว์อ่อนกว่าเธออีกสี่ปีก็ยิ่งทำให้เธอลังเล ถ้าชายหนุ่มไม่ตื้อ ก็คงไม่สำเร็จ

กระนั้นในเวลาที่ดรูวจะต้องเล่นบทแข็ง เขาก็ทำได้ เมื่อไรก็ตามที่เรา (คนอ่าน) รู้สึกว่า อินดิโก้ชักจะใจร้ายกะดรูวเกินไป เขาก็จะแสดงออกให้เธอรู้ถึงความเจ็บช้ำที่เธอก่อให้เกิด และนั่นเป็นการเตือนอินดิโก้เช่นกัน

เราขอบอกว่า ส่วนความสัมพันธ์ของตัวเอกในเรื่องได้ใจไปเต็มที่มาก ปัญหาที่เรารู้สึกมาจากองค์ประกอบภายนอกของเรื่องมากกว่า ในแง่นึงเล่มนี้มีพัฒนาการของพล็อตที่เร็วมาก หลังจากใน Bonds of Justice นิกิต้า ดันแคน สมาชิกสภาชาวไซประกาศความเป็นศัตรูกับเฮนรี สก๊อตสมาชิกสภาอีกคนอย่างชัดเจน เมื่ออีกฝ่ายให้การสนับสนุนกลุ่มเพียวไซ ซึ่งเป็นองค์กรก่อการร้ายที่ต้องการให้ชาวไซกลับไปใช้วิธีการไซเลนซ์อย่างเดิม เล่มนี้กลุ่มเพียวไซก้าวไปไกลอีกขั้นด้วยการวางแผนลอบโจมตีเผ่าสโนว์แดนเซอร์

เห็นอะไรผิดปกติไหมคะ เราพยายามเข้าใจนะคะ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมกลุ่มเพียวไซต้องตั้งเป้ามาที่ชาวเชนจิ้งค์ เข้าใจเหตุผลที่อธิบายในเรื่องค่ะ ต้องการทำลายความมั่นคงในภูมิภาคนี้ (คาลิฟอร์เนีย) เพื่อที่จะได้สั่นคลอนฐานอำนาจของนิกิต้า แต่เราคิดว่า ถ้าต้องลงทุนทำกันมากขนาดนี้ ทำไมไม่ไปลงมือกับนิกิต้าโดยตรงจะดีกว่าไหม ยิ่งในตอนนี้ยังสมาชิกสภาคนไหนออกตัวมาสนับสนุนเธออย่างชัดเจน และจากเรื่อง Bonds of Justice ก็แสดงให้เห็นว่า เธอมีปัญหาในเรื่องการจัดการภายในอยู่แล้ว แถมในเล่มนี้นิกิต้าก็ออกมายอมรับว่า เธอไม่มีกองกำลังทหารมากพอที่จะต่อสู้กับเพียงไซได้ (แม้ว่าเธอจะมีเงิน)

เรารู้สึกว่า การที่เผ่าสโนว์แดนเซอร์กลายเป็นเป้า จึงเป็นการโยงเรื่องเข้ามาให้เกี่ยวกับเผ่านี้เพียงเพื่อจะได้เล่าเรื่องของอินดิโกและดรูวเท่านั้นเอง พล็อตดูห่างเหินไปจากเรื่องมาก

ความเหมือนกันของเล่มนี้กับ Branded by Fire ก็ยังมีตามไปจนถึงฉากจบของเรื่อง เมื่อดรูวถูกทำร้ายปางตาย (เทียบกับที่เมอร์ซีถูกทำร้ายใน BBF) และอินดิโก้ก็รู้ใจตัวเองด้วยการยอมรับเขาเป็นคู่แท้ เพื่อเยื้อชีวิตของเขาไว้ (และดรูวจะถูกยิงอีกกี่ครั้งเนี่ย ใน Caressed by Ice ก็เกือบตายมารอบนึงแล้วนะ)

ส่วนที่ดีอีกจุดนึงของเรื่องก็คือ เล่มนี้เราได้เห็นเซียนนาในอีกมุมนึง ก่อนหน้านั้นเรารู้สึกว่า เธอเป็นเด็กที่ไม่โต (จริง ๆ เธอก็ยังไม่โตหรอกนะคะ แค่สิบแปดเอง) และเป็นเหตุผลสำคัญที่เราไม่ค่อยอยากให้เธอคู่กับฮอร์ค ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาอายุต่างกัน แต่เป็นวิธีที่ทั้งสองปฏิบัติต่อกัน (ต่อปากต่อคำ เถียงกันไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะเซียนน่าสร้างปัญหาให้เขาตลอด) มาเล่มนี้เธอกลับมาอยู่เผ่าสโนว์แดนเซอร์พร้อมกับความเป็นผู้ใหญ่ (ในเรื่องบอกว่า เธอเป็นผู้ใหญ่มาตลอด แต่เราไม่เห็น จนกระทั่งเล่มนี้) และนี่สร้างความหวังให้กับเรามาก เพราะเล่มต่อไปจะเป็นเรื่องของเธอและฮอร์คแล้ว

นอกจากนี้แล้ว เล่มนี้ยังพาคนอ่านเข้าไปเห็นศูนย์กลางของเผ่าสโนว์แดนเซอร์ ได้รู้จักกับตัวละครอีกไม่น้อยที่น่าสนใจมาก ๆ (แต่เช่นเดิมนะคะ นลินี ซิงห์ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะเป็นพระเอกเล่มถัดไปแล้วนะ) และเห็นความเป็นไป การบริหารของเผ่าหมาป่าที่ขึ้นชื่อเรื่องความร้ายกาจที่สุด

คะแนนที่ 83



View all my reviews

Review: Tangle of Need


Tangle of Need
Tangle of Need by Nalini Singh

My rating: 3 of 5 stars



เรื่องนี้เหมือนบทส่งท้ายชนิดยาวมาก ๆ ของเรื่อง Kiss of Snow เพราะเราได้เห็นฮอร์คกับเซียนนา กับชีวิตอันผาสุขหลังความรักลงตัวของพวกเขา นอกจากนี้เรายังได้ติดตามความเป็นไป ข่าวคราวของสมาชิกทั้งในฝูงสโนว์แดนเซอร์ และดาร์คริเวอร์ เราได้เห็นพิธีแต่งงานแบบซึ้งมากของฮอร์ค กับเซียนนา ได้เห็นการสร้างพันธมิตรของชาวเชนจิ้งค์

ทั้งหมดนั่นเป็นส่วนที่ดีนะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิด แต่มันไม่ยุติธรรมต่อตัวเอกของเรื่องค่ะ เพราะสำหรับเราแล้ว ส่วนที่ด้อยที่สุดในเล่มนี้ก็คือโรแมนซ์ระหว่างริแอซ และเอเดีย นี่เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกแบบนี้กับคาแร็คเตอร์นลินี ซิงห์ ปกติเธอจะเก่งมาก ๆ ในการผสมผสานพล็อตภาพรวม ความเป็นไปของคาแร็คเตอร์ต่าง ๆ ในชุด กับเรื่องราวความรักอันเป็นหัวใจหลักของเรื่องได้ลงตัว แต่เล่มนี้เรารู้สึกว่า ทั้งริแอซ และเอเดียไม่โดดเด่นมากพอ

หากจะคิดว่า เป็นเพราะสถานะของริแอช และเอเดียที่ไม่ได้อยู่ในระดับผู้นำสูงสุดในฝูง นั่นไม่น่าใช่ปัญหา เราอ่านเรื่อง Bonds of Justice ที่ทั้งพระเอกนางเอกถือว่า เป็นตัวละครที่เล็ก (ในแง่ของผลกระทบที่พวกเขามีต่อโลกในภาพรวม) เราก็ยังชอบทั้งคู่ และดื่มด่ำไปกับความรักของทั้งสอง แต่เล่มนี้เราเรียกได้ว่า เปิดอ่านแบบข้าม ๆ เมื่อถึงฉากที่ริแอซ และเอเดียออก จะว่าเพราะเราไม่รู้จักเขาดี เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่ตัวละครที่ออกมามีบทเยอะนักในหลายเล่มก่อนหน้า (ทั้งสองโผล่มาครั้งแรกใน Play of Passion) ก็ไม่น่าใช่อีก เช่นกันเปรียบเทียบกับแม็กซ์และโซเฟีย ใน Bonds of Justice

มีบางอย่างที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงเรื่องราวความรักของพวกเขา มากเสียจนเราไม่สนใจ

นอกเหนือจากนั้น เล่มนี้อ่านแล้วมีความสุขค่ะ เพราะเราได้เห็นคาแร็คเตอร์ที่คุ้นตาหลายตัวมีบทบาท ได้ติดตามความเป็นไปในชีวิตของพวกเขา ได้อ่านเรื่องของฮอร์คและเซียนนาต่อเนื่องอีก พล็อตในส่วนของกลุ่มเพียวไซก็ตามต่อเนื่อง

จริง ๆ แล้วเล่มนี้เหมือนความเงียบสงบก่อนพายุใหญ่จะพัดเข้าฝั่งน่ะค่ะ ชาวไซนักทำนายหลายคนบอกว่า กำลังจะเกิดสงคราม แต่มันไม่ได้เกิดในเล่มนี้ ทุกอย่างจึงเป็นเพียงการเตือนเล็ก ๆ ภารกิจของเพียวไซยังไม่จบ คนอ่านรู้ดีว่า จะต้องมีบางสิ่งที่ใหญ่มากตามมาหลังจากนี้

และบทสุดท้ายในเล่ม Retrieval ก็บอกเช่นนั้น เราโชคดีค่ะที่ไม่ได้อ่านเล่มนี้เมื่อปีก่อน ไม่งั้นคงลงแดงตายไปแล้ว จบเรื่องได้ทรมานใจคนอ่านอย่างยิ่ง

เรื่องนี้ให้คะแนนลำบากนะคะ เพราะเราไม่ชอบคู่หลัก แต่ชอบความเป็นไปของเรื่องในภาพรวม

คะแนนที่ 70



View all my reviews